วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

01/05/2556 ตอนที่ 2




"ลูกค้าที่ดีที่สุดของอุตสาหกรรมอเมริกันก็คือคนงานที่ได้รับค่าจ้างในระดับที่ดี"
"The best customer of American industry is the well-paid worker."

แฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์(Franklin D. Roosevelt)
ประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐอเมริกา

Source : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10150993460275636 and http://www.doonething.org/heroes/pages-r/roosevelt-franklin-quotes.htm
คำแปลโดย : Woradul Maimeesakulruncharthttps://www.facebook.com/woradul.maimeesakulrunchart/posts/419134211467463
ภาพประกอบจาก : http://th.wikipedia.org/wiki/ไฟล์:FDR_in_1933.jpg
............................................................................................................



"No business which depends for existence on paying less than living wages to its workers has any right to continue in this country"
"ธุรกิจที่ดำรงอยู่ได้ ด้วยการต้องจ่ายค่าจ้างคนงานให้ต่ำกว่าระดับค่าจ้างทีี่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ (living wage) ธุรกิจเหล่านั้นไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะดำเนินกิจการต่อไป ในประเทศนี้"
- แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์(Franklin D. Roosevelt), June 16, 1933
ประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐอเมริกา
ในคำแถลงกฏหมายการกอบกู้อุตสาหกรรมแห่งชาติ 16 มิถุนายน 1933
Source Franklin Roosevelt's Statement on the National Industrial Recovery Act, June 16, 1933 http://docs.fdrlibrary.marist.edu/odnirast.html

คำแปล Woradul Maimeesakulrunchart https://www.facebook.com/woradul.maimeesakulrunchart/posts/511370255568352
.................................................................................................................

จาก Status : คุณ Nithinand Yorsaengrat

ไม่ว่าจะเป็นภาพใคร อยู่ในฝ่ายความคิดใด ในการต่อสู้ทางความคิดมันก็น่าจะต่อสู้กันด้วยแนวคิด ซึ่งควรอารยะกว่าการนำภาพเสี้ยววินาทีมาใส่ร้ายกันนะ


นายกฯ เป็นมิตรกับทุกคน ...ทำไมต้องการจะให้ร้ายท่าน ....
จาก http://www.facebook.com/photo.php?fbid=559271967450596&set=a.559271884117271.1073742069.105044319540032&type=1&theater

ปล. กรุณาพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรม ... บางกลุ่มชอบใส่ร้ายนายกฯ ยิ่งลักษณ์ตลอดเวลา ...
โดยนำมาเฉพาะ บางมุม บางภาพ ... กลุ่มไหนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ ทุกท่านก็ทราบกันดี
...........................................................................................................

กนง. นัดพิเศษ ประเมิน “เงินบาทแข็ง” มาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจดี ไม่ใช่ดอกเบี้ย

วันที่ 30 เม.ย. 2556 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประชุมเพื่อรับฟังการรายงานภาวะเศรษฐกิจประจําเดือนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดำเนินการเป็นปกติ แต่ครั้งนี้มีการประชุมร่วมหารือต่อถึงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปกติจะพิจารณาในการประชุม กนง. โดยการประชุม กนง. ครั้งต่อไปกำหนดไว้วันที่ 29 พ.ค. 2556
หลัง กนง. ประชุมหารือฯ ได้แถลงข่าวออกเป็น “ข่าว ธปท.” เรื่อง “คณะกรรมการนโยบายการเงินเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน” โดยมีประเด็นสําคัญคือ
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีสาเหตุสําคัญจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย และแม้การแข็งค่าของเงินบาทจะมีผลกระทบต่อการส่งออก แต่เศรษฐกิจในภาพรวมยังขยายตัวได้ และถ้าจำเป็นก็พร้อมจะดำเนินมาตรการ รวมถึงผสมผสานมาตรการและการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผลการชุมของคณะกรรมการฯ เป็นการตอกย้ำจุดยืนเดิมว่า “ดอกเบี้ย” ไม่ใช่สาเหตุหลักในการแข็งค่าของเงินบาทในระยะที่ผ่านมา และไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจยังขยายตัวได้
ทั้งนี้ กนง. มีการประชุมช่วงบ่ายในเวลาประมาณ 15.00 น. หลังจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าพบ ดร.ประสาร ไตรรัตรน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เพื่อยื่นข้อเสนอแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่ากระทบส่งออก 5 ข้อ ให้ ธปท. พิจารณาดังนี้
1. ให้ ธปท. ใช้มาตรการบริหารจัดการค่าเงินบาทในภาวะวิกฤติ
2. ให้ ธปท. ปรับเปลี่ยนนโยบายจากการดูแลเงินเฟ้อมาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนแทน
3. ให้กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียว 1% แทนที่จะทยอยปรับลดครั้งละ 0.25%
4. ให้มีมาตรการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินทุนระยะสั้น ให้ห้ามนำเงินออกนอกประเทศเป็นเวลา 3 เดือน หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ให้เพิ่มเวลาเป็น 6 เดือน
5. ให้ปรับนโยบายการออกพันธบัตร
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ให้สัมภาษณ์หลังยื่น 5 ข้อเสนอกับธปท.
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ให้สัมภาษณ์หลังยื่น 5 ข้อเสนอกับ ธปท.
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการหารือกับ ธปท. ว่า ผู้ว่าการ ธปท. ได้บรรยายเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน และการดูแลอัตราดอกเบี้ย โดยอธิบายว่าทั้ง 3 เรื่องไม่สามารถทำพร้อมกันได้ และการดำเนินการต้องพิจารณาหลายปัจจัยอย่างรอบด้าน ซึ่ง ธปท. จะดำเนินการด้วยความระมัดระวัง
“พอใจในการหารือครั้งนี้ และมีความเข้าใจตรงกันคือ ธปท. ยอมรับว่าเงินบาทแข็งที่ค่าขึ้น 6-7% เป็นการแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ และบอกว่าจะใช้มาตรการแบบผสมผสานดูทั้งเงินทุนไหลเข้า อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย หลังจากนี้คงรอดูอีกระยะหนึ่ง โดยถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 28.30 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะมาขอพบกับ ธปท. อีก” นายพยุงศักดิ์กล่าว
ด้าน นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. ซึ่งเข้าพบผู้ว่าการ ธปท. ด้วย ได้แสดงความพอใจในการหารือกับ ธปท. เนื่องจาก ธปท. บอกว่าจะประสานเรื่องมาตรการกับกระทรวงการคลังอย่างแน่นแฟ้น ไม่ต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา
“ผมดีใจที่ 2 หน่วยงานเข้าคุยกันแล้ว” นายวัลลภกล่าว
ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน (30 เม.ย.) ธปท. ได้แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือน มี.ค. 2556 และไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ซึ่งรายงานว่า ภาวะค่าเงินบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ปิดตลาดที่ 29.29 บาท/เหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น 4.31% จากสิ้นไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ ไตรมาส 1 ปี 2556 มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 4,775 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการไหลเข้าตลาดพันธบัตร 5,997 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนตลาดหลักทรัพย์มเงินไหลเข้าเพียง 305 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และธนาคารพาณิชย์กู้ยืมระยะสั้นจากต่างประเทศเพื่อบริหารสภาพคล่อง 3,090 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนเงินไหลออกส่วนใหญ่คือ คนไทยไปลงทุนโดยตรงต่างประเทศ 1,644 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคนไทยไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหุ้นและตราสารหนี้จำนวน 1,492 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นายเมธี สุภาพงษ์
นายเมธี สุภาพงษ์
ส่วนภาวะเศรษฐกิจเดือน มี.ค. 2556 และไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ธปท. สรุปว่า เศรษฐกิจเดือน มี.ค. ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าตามการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนที่หดตัวลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัว 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และรายได้เกษตรกรหดตัว 0.2% จากเดือนก่อนหน้า
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจเดือน มี.ค. แม้จะชะลอลงแต่ไม่ถือว่าเป็นการชะลอลงรุนแรงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และคิดว่าเป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ต้องต้องติดตามว่าการชะลอตัวลงจะยืดเยื้อยาวนานหรือไม่ และที่สังเกตคือ รายได้เกษตรไม่ค่อยดีขึ้นอย่างที่ ธปท. คาด
นอกจากนี้ สินเชื่อธนาคารพาณิชย์เอกชนในเดือน มี.ค. 2556 เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อนก็ชะลอลงขยายตัวอยู่ที่ 13.9% จาก 14.9% ในเดือนก่อนหน้า เป็นการชะลอตัวลงทั้งสินเชื่อภาคเอกชนและสินเชื่อภาคธุรกิจ โดยสินเชื่อครัวเรือนขยายตัว 14.8% ชะลอลงจาก 16.2% ในเดือนก่อนหน้า และสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 12.8% ชะลอลงจาก 13.2% ในเดือนก่อนหน้า
นายเมธีกล่าวว่า การชะลอตัวขอสินชื่อเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ และเริ่มระมัดระวังในการให้สินเชื่อทั้งแก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อสินเชื่อเร่งตัวขึ้นค่อนข้างมาก ธนาคารพาณิชย์ก็จะดูแลคุณภาพสินเชื่อมากขึ้น
“ต้องติดตามต่อไปว่าการชะลอของสินเชื่อเป็นเรื่องชั่วคราวหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องความระมัดระวังก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าชะลอลงเพราะดีมานด์หายไปก็ต้องติดตามดูต่อไป” นายเมธีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2556 นายเมธีสรุปว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีมาก และการส่งออกค่อยๆ ฟื้นตัว
“ธปท. คาดว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกจะขยายตัวกว่า 7% แต่เป็นการดูจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจ ต้องรอดูตัวเลขจริงที่สภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ที่จะแถลงในวันที่ 20 พ.ค. นี้” นายเมธีกล่าว
จากท่าทีของ ธปท. และ กนง. ที่กล่าวมาข้างต้น อาจคาดการณ์ได้ว่า ในการประชุม กนง. ครั้้งต่อไปในวันที่ 29 พ.ค. นี้ หากยังสามารถประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป หรือไม่ทะลุระดับ 28 บาท/เหรียญสหรัฐฯ และข้อมูลเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ ธปท. ประเมินไว้
ทิศทาง “ดอกเบี้ยนโยบาย” ก็ไม่น่าเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.75%
..........................................................................................................

ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ปลุกอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร อารยะขัดขืน คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

"อุกฤษ มงคลนาวิน" ปลุกอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร อารยะขัดขืน คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

(อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


ในอดีต "อุกฤษ มงคลนาวิน" ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) เคยเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เคยเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ สวมหมวกทั้งประมุขนิติบัญญัติ และประมุขผู้ชี้ขาดกฎหมาย-ปัญหาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ในปัจจุบัน เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติขัดแย้งกับฝ่ายตุลาการ เจาะจงที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ ในเกมอำนาจที่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน

"อุกฤษ" จึงร่อนจดหมายเปิดผนึก 4 ข้อ แนะนำให้มีการลดอำนาจ-ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ เขาเปิดอาณาจักร "Navin Court" ย่านเพลินจิต ไขรหัสสาระของจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"

และเขายังแนะนำให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารอารยะขัดขืน ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ากรณีใด ๆ

- ทำไมถึงมีจดหมายเปิดผนึก 4 ข้อปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญในตอนนี้

ที่จริงเราคิดกันมาก่อนนานแล้ว เพราะมีหลายกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายบางมาตราขัดรัฐธรรมนูญ เช่น พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 ใช้บังคับไม่ได้ ทั้งที่กฎหมายดังกล่าวมีการบังคับใช้มานาน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปแก้ไขกฎหมายเกินกว่า 100 ฉบับ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายแต่ละฉบับไม่ใช่เรื่องง่าย และทำให้ขณะนั้นการทำงานต่าง ๆหยุดชะงักลง เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ทั้งที่ตัดสินด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 มันเฉียดฉิวมาก กรณีสำคัญอย่างนี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 บอกว่า องค์ประชุม 9 คน ต้องมี 5 คน ถือว่าครบองค์ประชุม แต่คะแนนเสียงใช้เสียงข้างมากธรรมดา เช่น องค์ประชุม5 คน ใช้คะแนนเสียง 3 ต่อ 2 ได้ อย่างนี้มันไม่ถูก จึงคิดว่ามี 2 แนวทางที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรอบคอบมากขึ้น 1.องค์คณะ 9 คน จะต้องมีคะแนนเสียงเป็นเสียงข้างมากในการวินิจฉัยเด็ดขาด 7 ต่อ 2 หรือ 8 ต่อ 1 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะองค์ประกอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็น 15 คน มีองค์คณะในการประชุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และการวินิจฉัยต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดไม่ต่ำกว่า 10 เสียงซึ่งตุลาการที่เพิ่มมา 6 คน ก็ให้ผ่านกระบวนการรัฐสภาในการคัดเลือก เพื่อเป็นการยึดโยงประชาชน และไม่ควรมีวาระนานเกินไป 4 ปี หรือมีสิทธิ์อีก 1 วาระ ไม่เกิน 8 ปี ส่วนที่ตุลาการบางท่านบอกว่า เหมือนคนดูมาไล่กรรมการ แต่ถ้ายกตัวอย่างในสมัยก่อน การแข่งฟุตบอล คนดูเชื่อกรรมการ ต่อให้คนเห็นว่าลูกนี้ไม่สมควรได้ลูกโทษก็ตาม เพราะกรรมการตัดสินแล้วก็แล้วไป คนดูก็ไม่ว่าอะไร ตอนหลังพฤติการณ์มันหนักขึ้น ๆ เพราะการตัดสินมันผิดพลาดมาก

หลายครั้งกลายเป็นว่ากรรมการกับไลน์แมนลงมาเล่นด้วย เล่นทีไร อีกทีมหนึ่งก็แพ้ทุกที ผลคืออะไร คนดูทนไม่ได้ใช่ไหม เหตุการณ์เช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญของไทย มันพิสูจน์ได้โดยคำวินิจฉัยของศาลเอง

การที่สมาชิกรัฐสภาเคลื่อนไหวไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นสิทธิ์ที่เขาทำได้ เพราะเขาเป็นองค์กรนิติบัญญัติ เป็น 1 ใน 3 อำนาจสำคัญของบ้านเมือง ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษ ไม่ใช่อยู่ในองค์กรสำคัญของบ้านเมือง ดังนั้น ทำซ้ำซากเขาไม่ยอมรับ ถ้าต่อไปใช้คำว่าอารยะขัดขืน ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ฟังคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้ชี้แจง จะเรียกว่าอารยะขัดขืนได้ไหม ให้ไปลองคิดกันดู

- เมื่อรัฐธรรมนูญระบุว่าคำวินิจฉัยของศาลผูกพันทุกองค์กร แล้วอารยะขัดขืนจะใช้ช่องทางไหน

ก็ใช้ช่องทางเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง หรือตอนที่ฉีกบัตรเลือกตั้ง มันเป็นช่องทางที่เป็นพฤติการณ์เรียกว่าขัดขืน เพราะคำวินิจฉัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เขาก็มีสิทธิ์ไม่รับฟัง ก็ให้สังคมเป็นผู้วินิจฉัยว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดถูก เพราะเหตุว่ามันไม่มีศาลอื่นที่จะพิจารณาเรื่องนี้ได้อีกแล้ว ไม่มีศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีศาลเดียว

เมื่อมันหมดทาง ก็มีนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ที่จะหาทางแก้ไขยับยั้ง ทางสุดท้ายคือประชาชนที่จะรับหรือไม่รับอันนี้ เพราะระบอบประชาธิปไตยถือประชาชนเป็นใหญ่

- เมื่อเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมานอกเลนแบบนี้ แล้วสุดท้ายศาลกลับตัดสินยุบพรรคเพื่อไทยอีกรอบ จะอารยะขัดขืนอย่างไร

ก็เขาไม่รับ ถามจริงเถอะ ถ้าตัดสินอย่างนี้ ใครเป็นคนบังคับคดีได้ (เน้นเสียง) ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจไปสั่งตำรวจ ไปสั่งใครให้จัดการ ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติต่างหากที่เขามีอำนาจ ระหว่างช่วงนั้น เขาก็แก้ไขรัฐธรรมนูญซะ ไม่ฟังไอ้มาตรา 68 เพราะมันไม่มีอำนาจอยู่แล้ว ถ้าเขาบอกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญล่ะ แล้วแก้ไขเพิ่มจำนวนตุลาการ แก้ไขเรื่ององค์ประกอบ แก้ไขเรื่องการลงคะแนน ถ้าขัดขวางอีกก็เจอประชาชน เขาเรียกว่าศาลประชาชน นั่นล่ะคือกรรมการสูงสุดในการตัดสิน

- สรุปว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ยุบพรรค แต่ก็ไม่มีกระบวนการมาบังคับให้ต้องทำตาม

(สวนทันที) ถูกต้อง ถูกต้อง ให้ยุบพรรค คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะยุบ เขาก็ไม่รับ กกต.จะกล้าไหม ประชาชนจะยุบ กกต.เสียเอง หรือฝ่ายนิติบัญญัติแก้กฎหมายยุบ กกต.เสียเอง นอกจากนั้น ฝ่ายบริหารก็ให้ระงับการจ่ายค่าตอบแทน จ่ายเงินเดือน อยู่ได้ไหม ถ้าเขาจะตอบโต้จริง ๆ แล้วใครจะไปฟ้องล่ะ งบประมาณก็อยู่ที่ฝ่ายบริหาร ถ้าสังคมเอาด้วย ประชาชนเอาด้วย เขาก็ทำได้ แต่ที่ประชาชนเขาไม่ทำ เพราะเห็นว่าเกินไป

- ถ้าอารยะขัดขืนอย่างนี้ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการจะออกนอกเลน ล้ำเส้นกันหมด

ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่อยู่ในอำนาจตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษ ไม่ใช่ตุลาการศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมือง มันผิดกัน

- ทำไมบ่อยครั้งข้อเสนอของอาจารย์ถูกวิจารณ์ว่าเป็นข้อเสนอที่ย้อนยุค ล้าหลัง

ความเห็นของคนแตกต่างกัน แล้วคนที่ให้ความเห็นนั้นเคยออกความเห็นอะไรที่ว่าทันสมัยบ้าง ใครที่ว่าย้อนยุคจะย้อนยังไง ในเมื่ออะไรที่ไม่ได้ผลมัน ก็ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แล้วถ้าล้ำยุคจะต้องมีตุลาการ สัก 30 คนเหรอถึงไม่ย้อนยุค จะพูดจะอะไรให้ศึกษาเสียก่อนว่าย้อนยุคคืออะไร แล้วการที่วันดีคืนดี ผู้ที่วิจารณ์แบบนี้ไปเสนออะไรที่มัน...ไม่เกิดประโยชน์ แล้วไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านเคยทำไหม เช่นเคยเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน มาตรา 7 มันยิ่งกว่าย้อนยุค นี่มันเผด็จการ ถูกไหม

- แต่ในอดีตที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน ตอนคดีซุกหุ้นภาค 1 ก็ถูกเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการตัดสินผิดพลาดเหมือนกัน และเสียงข้างมากก็ชนะกัน 8 ต่อ 7 ห่างกันเพียงเสียงเดียว
คดีซุกหุ้นเราก็ต้องเคารพเขา มันก็ไม่มีปัญหาอะไร เราไม่ได้พูดถึงตัวบุคคล แต่การที่ไปวินิจฉัยเอานายกฯคนหนึ่งออกจากตำแหน่ง ตีความกฎหมายอะไรก็ไม่ได้ ไปเอาพจนานุกรมมาตัดสิน มันเลวร้ายกว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น เรื่องการซุกหุ้นมันเป็นวาทกรรม แต่เอาผิดอะไรเขาไม่ได้ เราอย่ามาพูดในเรื่องนี้เลย เอาว่าต้องแก้ไขกันดีกว่า ว่าถ้าเชื่อตัวบุคคลก็เลิกศาลรัฐธรรมนูญสิ ไปสู่ศาลยุติธรรมธรรมดาเลยก็ได้ ถ้าจะคิดอย่างนี้ อย่าไปเอาตัวบุคคลเป็นหลัก อย่างตอนนี้ที่เหตุการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ เพราะเราก้าวข้ามคนคนหนึ่งไม่พ้นเท่านั้นเอง อย่าไปกลัวเขา สองมือสองเท้าเท่ากัน มีพรรคการเมืองเท่ากัน สู้กันในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นแหละ บ้านเมืองจะเรียบร้อย

- ศาลรัฐธรรมนูญก็ก้าวข้ามคนคนหนึ่งไม่พ้น

ไม่พ้น ไม่พ้น ก็นี่ไงถึงตำหนิ อย่างน้อยการวินิจฉัยด้วยคนจำนวนมาก ก็ดีกว่าวินิจฉัยด้วยคนจำนวนน้อย น้อยเท่าไหร่ก็เป็นเผด็จการมากขึ้นเท่านั้น ถ้า 15 คน คะแนนเสียงก้ำกึ่ง 9 คน ก็คะแนนเสียงก้ำกึ่ง ก็เพิ่มไป 25 คนก็ได้ เอาผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามา

- คนที่ศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองต่าง ๆ ก้าวไม่พ้นคือคุณทักษิณ ชินวัตร

ใคร ๆ ในโลกนี้ก็รู้ ถ้ายังมีชื่อทักษิณอยู่ ต่อให้เปลี่ยนชื่อยังไงก็ไม่ได้ เหมือนเห็นเงาปีศาจ ซึ่งมันแปลก ผมไม่เคยกลัวเลย ใครจะชื่ออะไรก็ตาม อยู่ที่หลักการความถูกต้อง แล้วใครเป็นอย่างไร ประชาชนจะเป็นผู้พิพากษาเอง

- ศาลรัฐธรรมนูญการันตีตลอดว่าวินิจฉัยตามพยานหลักฐาน ไม่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ ทำไมถึงคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญก้าวข้ามคุณทักษิณไม่พ้น
ไม่ใช่...ที่อ้างมาว่า 15 คนก็แล้ว 9 คนก็แล้ว เป็นเพราะก้าวข้ามคนคนหนึ่งใช่ไหม แล้วเอามาเป็นข้ออ้าง เวลาเราถูกใจ ก็บอกว่าตัดสินอย่างนี้ดีแล้ว ถ้าเวลาไม่ถูกใจ ก็บอกว่าเป็นเพราะคนคนหนึ่ง เลิกพูดถึงเรื่องนี้ดีกว่า คนเราเกิดมาสองมือสองเท้า ไปกลัวใคร ทุกอย่างอยู่ที่กรรมดี กรรมชั่ว ถ้าเราทำดีแล้ว ไม่ต้องไปกลัวใคร แต่ถ้าทำชั่ว แม้วันนี้เรารู้สึกว่าชนะ แต่วันข้างหน้าเราต้องรับผลกรรมอยู่ดี

- เคยเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ มองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในยุคประชาธิปไตยเต็มใบในปัจจุบันต่างกับครึ่งใบไหม
ผิดกันสิครับ จะว่าครึ่งใบอะไรก็ตาม มันเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ตุลาการรัฐธรรมนูญมาจากการโปรดเกล้าฯ มาจากการคัดเลือกมาโดยชอบธรรมเป็นที่ยอมรับ แต่จะมานับถือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปี 2550 มันยากแล้วล่ะ เพราะ คมช.ใช้อำนาจคณะปฏิวัติมาตั้งคนของตัวเอง 9 คน ซึ่งเป็นตุลาการส่วนใหญ่ ก็คือเลือกตุลาการภิวัตน์ ที่มามันก็ผิดแล้ว มันเทียบกันไม่ได้ อย่ามาเทียบกันเลย 

แล้วตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปี 2540 เขาก็ไม่มีตุลาการภิวัตน์อย่างนี้

- ที่ทำให้แตกต่าง มองว่ามีใบสั่งทางการเมือง

ไม่ทราบ จิตใจของตัวเองรู้ ใบสั่งไม่สั่ง กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา นักกฎหมายเขาอ่านกันออกว่าตัดสินยังไง การตีความกฎหมายใช้พจนานุกรมแค่นี้ก็รู้แล้ว ตัดสินมา 9 ต่อ 0 (คดีชิมไปบ่นไป) เขียนคำวินิจฉัยส่วนตนว่าไง เอางี้ ให้นักกฎหมายรุ่นเหลนไปวิเคราะห์ดู มันเป็นการละเมิดกฎหมาย ละเมิดการตีความ ละเมิดหลักกฎหมายที่เราสอนกันมา

ตั้งแต่สมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ บรรพบุรุษตุลาการไม่เคยมีปรากฏอย่างนี้ หรือจะเถียงว่าการตัดสินอย่างนี้ถูก..หา !..ไม่เคยมีตุลาการคนไหนในระบอบครึ่งใบ เต็มใบ ไม่เคยมีใครคิดแบบนี้

- ตกลงมันผิดที่ตัวตุลาการ 9 คน หรือผิดที่ตัวระบบ

มันผิดตั้งแต่ต้น องค์ประกอบที่มา อำนาจ แล้วการเลือกตัวบุคคล คนดี ๆ นะ ไม่ใช่ไม่ดี ลูกศิษย์พวกนี้เก่งทั้งนั้น อัจฉริยะไม่มีใครเกิน แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ที่ทำให้คำวินิจฉัยออกมาเป็นที่ยอมรับไม่ได้ ก็ไม่เข้าใจ
.......................................................................................................



ฟีนิกซ์

เมื่อผมเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในต่างจังหวัด ก็เข้ามาเรียนต่อที่เมืองหลวง การสอบเข้าเรียนชั้น ม.ศ. 4 ในกรุงเทพฯสมัยนั้นทำพร้อมกันทีเดียว หมายถึงต้องแข่งกับนักเรียนหลายหมื่นคนจากทั่วประเทศ ในวันสอบก่อนเข้าห้องสอบ เพื่อนคนหนึ่งถามโจทย์ผมหลายข้อ ผมตอบไม่ได้เลย จึงเอะใจว่าตัวเองเตรียมตัวมาสู้คนอื่นไม่ได้ โจทย์หลายข้อไม่เคยผ่านตาผมมาก่อน ผมเชื่อว่าเพื่อนคงไปกวดวิชามาอย่างเข้มข้น จึงไม่แปลกที่ผมสอบเข้าโรงเรียนที่ต้องการไม่ได้

เมื่อสี่สิบปีก่อน กรุงเทพฯมีโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่ง ใครอยากสอบได้ ก็ต้องกวดวิชา “เพื่อให้ชัวร์” เด็กเมืองหลวงเข้าถึงแหล่งวิชาความรู้มากกว่าและพร้อมกว่า เด็กจากต่างจังหวัดกับเด็กกรุงเทพฯเหมือนมวยคนละชั้น

แต่การสอบไม่ติดโรงเรียนที่ตั้งเป้าไว้กลับเป็นเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิต เพราะมันทำให้ผมต้องเตรียมพร้อมในการศึกครั้งต่อมา คือการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย คราวนี้ผมเตรียมสอบล่วงหน้าอย่างหนักหน่วงนานถึงหนึ่งปีเต็ม ก็เข้าคณะที่ต้องการได้

ครั้นได้เรียนคณะที่ต้องการแล้ว ก็โล่งอกนึกว่าสบายแล้ว จึงใช้เวลาอ่านนิยายตามนิสัยเดิม ผลก็คือเทอมแรกผมได้รับเกรด F เป็นตัวแรกในชีวิต โดยสอบตกวิชาคำนวณ เกรด F ที่ได้รับมานี้ฉุดเกรดรวมลงทันที กว่าจะฟื้นขึ้นมาได้ก็ใช้เวลาอีกหลายเทอม

ทว่าการสอบตกตั้งแต่เทอมแรกกลับเป็นเรื่องที่ดีที่สุดอีกเรื่องหนึ่งในชีวิต มันเตือนสติผมว่า ระวัง! อย่าเรียนเล่นๆ อาจรีไทร์ได้ ตั้งแต่นั้นผมก็เปลี่ยนเป็นเรียนอย่างตั้งใจ และจบไปด้วยคะแนนน่าพอใจ ที่สำคัญคือไม่ประมาทไปตลอดชีวิต

แน่นอน การสอบไม่ได้ การได้รับเกรด F เป็นเรื่องน่าหดหู่ แต่เมื่อใช้มันให้เป็นบทเรียนและไฟกระตุ้น มันก็กลายเป็นของมีค่าใหญ่หลวง

ความผิดพลาดพ่ายแพ้จึงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป หากรู้จักใช้มันให้เป็น


ในโลกของชีวิตทำงาน ‘การสอบตก’ มักอยู่ในรูปของการไล่ออก มันเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่ง เจ้านายส่วนใหญ่อาจให้เหตุผลของการไล่ออกที่ไม่จริงเพื่อรักษาน้ำใจของลูกน้อง เช่น บริษัทมีผลประกอบการไม่ดี, เศรษฐกิจแย่ ฯลฯ แต่ต่อให้มันเป็นเหตุผลจริง คนที่ถูกไล่ออกก็มักถามว่า “แล้วทำไมต้องเป็นเรา?”, “เราแย่ขนาดนั้นเลยหรือ?”

การถูกไล่ออกเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด เป็นการหักความมั่นใจในตนเองด้วยเข่า แต่ก็เหมือนฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า พายุพัด เราควบคุมมันไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้

หากตั้งหลักโดยใช้สติ ใช้สมองครุ่นคิดโฟกัสที่ปัญหาจริง ก็อาจเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส และมันก็อาจกลายเป็นเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิต

คนจำนวนไม่น้อยถูกไล่ออกจากงาน แล้วไปเรียนต่อ ไปสานฝันที่ค้างไว้ ทำนองว่าไม่มีอะไรจะสูญเสียอีกแล้ว มันเปลี่ยนพวกเขา บังคับให้พวกเขาต้องคิดและใช้ศักยภาพให้ถึงขีดสุด

สิ่งแรกคือยอมรับความจริง สิ่งที่สองคือหาจุดผิดพลาด สิ่งที่สามคือแก้ไขหรือปรับปรุงตัวเอง หากทำอย่างนี้ได้ ความผิดพลาดนั้นก็ไม่ถือว่าเป็น ‘ความผิดพลาด’ (ลบ) แต่ถูกยกระดับเป็น ‘บทเรียน’ (บวก)

การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดจึงอาจมีค่ามากกว่าการไม่เคยพ่ายแพ้เลย


ในตำนานกรีกมีเรื่องของนกฟีนิกซ์ วิหคที่เกิดใหม่จากเถ้าชีวิตเก่า เราทุกคนก็สามารถเป็นฟีนิกซ์ได้

ตายแล้วเกิดใหม่

ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่

ฟังดูยาก แต่หากศึกษาชีวิตของผู้ที่ประสบความสำเร็จระดับโลกจำนวนมากจะพบว่า คนเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จที่เป็นอยู่หากไม่ถูกไล่ออกเสียก่อน

ลี ไออาคอคคา นักธุรกิจชาวอเมริกันแห่งวงการรถยนต์ที่โลกยกให้เป็นเซียน ถูกไล่ออกจากบริษัทฟอร์ด แต่ก็ลุกขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นประธานบริษัทไครสเลอร์ สร้างผลงานชั้นหนึ่งมากมายนับไม่ถ้วน

สตีป จ็อบส์ ถูกไล่ออกจากบริษัทแอปเปิลที่เขาร่วมก่อตั้ง ด้วยเงินตอบแทนที่ได้รับมา เขาจะกลับไปนอนเลียแผลที่ไหนนานเท่าไรก็ได้ แต่เขาเริ่มต้นใหม่ คิดค้นระบบใหม่ ก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ชื่อ NeXT นอกจากนี้ยังทดลองศักยภาพอื่นๆ เช่น พัฒนา คอมพิวเตอร์ กราฟิก ในภาพยนตร์แอนิเมชันที่ต่อมากลายเป็นบริษัท Pixar ในที่สุดเขาก็กลับไปเป็นใหญ่ในบริษัทแอปเปิลอีกครั้ง สร้างนวัตกรรมต่างๆ มากมาย เช่น iMac, iPod, iPhone, iPad เขาบอกว่าการถูกไล่ออกครั้งนั้นเป็นสิ่งดีที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา

นายกเทศมนตรีแห่งเมืองนิวยอร์ก ไมเคิล บลูมเบิร์ก ก็ถูกไล่ออกจากงานบริษัทเมื่ออายุสามสิบเก้า เขาได้รับเงินตอบแทนมากก็จริง แต่หากจบอาชีพแค่นั้น เขาคงรู้สึกคาใจไปตลอดชีวิต เขาใช้เงินตอบแทนนั้นตั้งบริษัทของเขาเอง มันกลายเป็นบริษัทยักษ์ และแผ้วทางเขาสู่งานและบทบาทใหม่ๆ กลายเป็นคนมีฐานะดีอันดับต้นๆ ของอเมริกา และเป็นนายกเทศมนตรีสามสมัย

โอปราห์ วินฟรีย์ นักจัดรายการทอล์กโชว์ทางโทรทัศน์ที่โด่งดังที่สุดในอเมริกา เคยทำงานเป็นนักข่าวที่บัลติมอร์ และถูกไล่ออก เธอเริ่มต้นใหม่โดยย้ายไปที่ชิคาโก กลายเป็นนักจัดรายการโทรทัศน์รายการเล็กๆ ช่วงเช้าครึ่งชั่วโมง จนกระทั่งงานเข้าตาประชาชน มันกลายมาเป็น The Oprah Winfrey Show ที่ยาวนานยี่สิบห้าปี

นักแสดง เจอร์รี ซายน์เฟลด์ ได้รับบทในซิทคอมเรื่อง Benson วันหนึ่งเมื่อไปทำงานตามปกติ เขาพบว่าบทตัวละครที่เขาแสดงหายไปอย่างไร้ร่องรอย ปรากฏว่าเจ้านายไม่พอใจการแสดงของเขาและสั่งให้หั่นบทของเขาออกหมด หลังจากถูกไล่ออกจากงาน ซายน์เฟลด์หันไปทำงานเดิมที่เขาถนัดคือตลกเดี่ยวไมโครโฟน ในที่สุดการแสดงของเขาก็ไปเข้าตาดาวตลก จอห์นนี คาร์สัน และ เดวิด เลตเตอร์แมน ซายน์เฟลด์ก้าวเข้าวงการโทรทัศน์อีกครั้ง กลายเป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โด่งดังจากซิทคอมเรื่อง Seinfeld และอื่นๆ

ศิลปินเพลง มาดอนนา เรียนมหาวิทยาลัยไม่จบ เธอไปเสี่ยงโชคที่นิวยอร์กด้วยเงินติดตัวเพียงสามสิบห้าเหรียญ ทำงานเป็นสาวเสิร์ฟที่ร้านโดนัทแห่งหนึ่ง เธอถูกไล่ออกจากงาน แล้วหันไปทำงานเป็นนักเต้นประกอบฉากสำหรับนักร้องมีชื่อหลายคน เธอกลายเป็นศิลปินเพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีผลงานมากมาย

นักเขียน ทรูแมน คาโพที ทำงานเป็นเด็กเก็บต้นฉบับการ์ตูนกับตัดข่าวหนังสือพิมพ์ในแผนกศิลป์ของนิตยสาร The New Yorker อยู่สองปีแล้วถูกไล่ออก เขาจึงตัดสินใจทำงานที่เขาชอบจริงๆ คือเขียนหนังสือ คาโพทีกลายเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา มีผลงานเช่น Breakfast at Tiffany’s, In Cold Blood ฯลฯ

เจ. เค. โรว์ลิง ถูกไล่ออกจากงานเลขานุการ แล้วไปเขียนหนังสือเต็มตัว อดๆ อยากๆ แต่ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมเลิกเขียน ในที่สุดก็กลายเป็นนักเขียนรวยที่สุดในโลก

สิ่งที่เธอรู้สึกยามที่ต้องสานฝันตัวคนเดียวเงียบๆ อาจเป็นสิ่งที่เธอเขียนในนวนิยายเรื่อง Harry Potter and the Half-Blood Prince ว่า “สิ่งที่เรากลัวคือความไม่รู้ว่ามีอะไรรอเราอยู่ เมื่อเรามองไปที่ความตายและความมืด ไม่มีอะไรมากกว่านั้น”
ชีวิตย่อมมีทั้งความสว่างและความมืด มีการขึ้นที่สูงและลงที่ต่ำ เมื่อเข้าใจสัจธรรมนี้ ก็ไม่เหลิงเมื่ออยู่ที่สูง ไม่กลัวเมื่อตกลงสู่ที่ต่ำ

การสอบตก การถูกไล่ออกจากงานไม่ใช่จุดจบของชีวิต เพราะ คนเราล้มได้เสมอ แต่ไม่มีใครทำให้เราตายนอกจากตัวเราเอง

เลือกเป็นนกบาดเจ็บที่บ่นคร่ำครวญเมื่อปีกหักว่าโลกไม่ยุติธรรม หรือเลือกเป็นนกฟีนิกซ์ที่เกิดใหม่จากเถ้าชีวิตเก่า ก็แล้วแต่เรา

ข้อแตกต่างคือนกฟีนิกซ์เปลี่ยนชีวิตตนเองในสถานการณ์เลวร้าย ใช้มันเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนงานในฝัน

และทำให้การถูกไล่ออกเป็นเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิต


วินทร์ เลียววาริณ


20 เมษายน 2556


คมคำคนคม

Change is the constant, the signal for rebirth, the egg of the phoenix.

ความเปลี่ยนแปลงคือความต่อเนื่อง, สัญญาณของการเกิดใหม่, ไข่ของนกฟีนิกซ์

Christina Baldwin

  • Patchara Pongcharoenkul อ่านไปปึ๊บจนถึงตอนยกตัวอย่างคนสำคัญมา ผมรู้เลยว่าเป็นวินทร์ 555555+

  • Supapong Wanitpongpan ก็มีแค่พี่วินทร์กับพี่ประภาสล่ะที่แชร์บ่อยที่สุด สำหรับเนื้อหาแบบนี้นะ 

  • Patchara Pongcharoenkul ใช่ครับ แต่นั้นก็ตัดช้อยประภาศออกไป 

.................................................................................................................



คุยกับประภาส : งมงาย
ประภาส ชลศรานนท์

สวัสดีค่ะ คุณประภาส

แปลกใจว่าศาสนาของคนตะวันตก เขาพูดถึงพระเจ้า พูดถึงการสร้างโลก สร้างมนุษย์ จนบางครั้งดิฉันก็รู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อได้ ฟังดูแล้วเหมือนงมงาย แต่คนตะวันตกเขากลับไม่งมงายเท่าคนไทย ศาสนาพุทธของไทยเราสอนให้รู้จักเหตุและผล สอนให้รู้จักอนัตตา ศาสนาพุทธไม่มีพระเจ้า ไม่มีเทพเจ้า สอนแต่ปรัชญาชีวิต แต่ทำไมชาวพุทธในบ้านเรากลับงมงายกว่า ทั้งเรื่องแทงหวยจากวันมรณภาพของพระสงฆ์ เดินสายตามศาลต่างๆ เพื่อขอโชคลาภ ทรงเจ้า หมอผี เต็มไปหมดในสังคมไทยเรา

คุณประภาสว่าคนตะวันตกเขาเชื่อในศาสนาของเขาจริงๆ หรือเปล่า เหมือนกับคนไทยเรามีศาสนาพุทธไว้โก้ๆ ว่าเป็นศาสนาแห่งเหตุผล เพราะดูๆ ไปคนไทยเราก็ทำเหมือนกับว่า ไม่เชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ฝรั่งเขาเชื่อจริงๆ หรือว่ามีพระเจ้า มีเรือโนอาห์จริง?

...อารยา

ตอบ...

หมู่นี้ได้ยินคำว่า “อนัตตา” บ่อยเหลือเกินครับ บ่อยจนดูราวกับว่าผู้คนในยุคนี้เต็มไปด้วย “อัตตา” กันเต็มกำลัง หรือไม่ก็มีกันจนล้น และอยากจะสลายให้กลายเป็น “สุญตา” กันเสียให้หมด

วันก่อนได้ยินชาวพุทธสายวิปัสสนาสองท่านนั่งคุยกันเกี่ยวกับเรื่องอนัตตา ท่านหนึ่งตั้งปุจฉากับอีกท่านหนึ่งว่า การนั่งวิปัสสาเพื่อพิจารณาโลกและตัวเอง เพื่อปรารถนา “อนัตตา” นั้นเป็นกิเลสไหม อีกท่านหนึ่งตอบว่า ความปรารถนานั้นแม้แต่ “ความว่าง” ก็เป็นกิเลส สูงที่สุดแล้ว แม้แต่ “พระนิพพาน” ก็ต้องไม่ปรารถนา ท่านว่าอย่างนั้น ศาสนาของเราเป็นอย่างนี้ละครับ

ในความเห็นของผม ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของการถกเถียง เป็นเรื่องของการพินิจพิเคราะห์ ฯลฯ ลองนึกภาพตามผมย้อนกลับไปสมัยพุทธกาล ตอนที่ศาสนาพุทธจะก่อกำเนิดดูก็ได้ เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช แล้วก็เสาะหาอาจารย์และลัทธิต่างๆ อยู่ตั้งหลายท่าน กว่าที่พระองค์จะลงนั่งลงแล้วใช้ “ทางสายกลาง” ค้นพบศาสนาด้วยพระองค์เอง พระองค์ต้องผ่าน “การพิจารณา” ผู้คนและตัวเองไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร

จากนั้นพระองค์ก็เสด็จออกโปรดสัตว์ สั่งสอนผู้คนให้ค้นพบความจริงด้วยตัวของตัวเอง จริงๆ นะครับ พระองค์สอนให้ค้นพบเอง ไม่ให้เชื่อใคร แม้แต่ตัวพระองค์ผู้เป็นครู อย่างนี้จะไม่ให้เรียกว่าเป็น “ศาสนาแห่งการพิจารณา” ได้อย่างไร จริงไหมครับ

ที่ใดก็ตามเมื่อมีการพิจารณา ที่นั่นก็ต้องมีการ “ถกเถียง” ตามมาเป็นธรรมดา เราจึงได้เห็นตำนานของปุจฉาและวิสัชณา เต็มไปหมดในศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นสาขานิกายใด ผมพูดอย่างนี้ เหมือนจะบอกว่า แล้วศาสนาของคนตะวันตกเป็นอีกอย่าง

ผมเห็นเป็นอย่างนี้ครับ ผมเห็นว่าศาสนาของชาวตะวันตกเป็นศาสนาแห่งการ “ศรัทธา” มากกว่า “การพิจารณา” ชาวคริสต์ไม่นิยมมาตั้งคำถามกันว่า พระเจ้ามีจริงไหม ไม่เคยพยายามใช้วิทยาศาสตร์ที่ตัวเองถนัด พิสูจน์ข้อความในคำสอนของพระคริสต์ ชาวตะวันตกศรัทธาพระเจ้า ก็ด้วยตัว “ศรัทธา” ตัวเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการ “พิจารณา” แต่ “ศรัทธา” ตัวเดียวนี่แหละครับแข็งแรงดีนัก

นึกตามผมกลับไปในประวัติศาสตร์ของพวกฝรั่งดูก็ได้ครับ ต่อให้ฉลาดหลักแหลมอย่างกาลิเลโอ ที่เที่ยวสงสัยอะไรเต็มไปหมดที่ปราชญ์ในอดีตเคยกล่าวไว้ จากนั้นก็ทำการพิสูจน์มันเสียจนผู้มีอำนาจในยุคนั้นเกิดการไม่พอใจ

แต่เชื่อไหมครับว่ากาลิเลโอกลับเป็นชาวคริสต์ที่ดี ไปโบสถ์ทุกสัปดาห์ และไม่เคยตั้งคำถามว่าพระเจ้ามีจริงไหม หรือทำไมเราต้องเชื่อพระเจ้า สิ่งเดียวที่เขาแตะต้องศาสนาก็คือ เขากล่าวบางประโยคทางวิทยาศาสตร์ที่ขัดต่อข้อความในพระคัมภีร์ แต่ถึงกระนั้นผมก็เชื่อว่า เขา ”ศรัทธา” ในพระเจ้า

และที่น่าสนใจก็คือ มันเป็นการศรัทธาโดยไม่ต้องการ “การพิจารณา” ไม่ต้องการ “ข้อสมมุติฐาน” และไม่ต้องการ “การพิสูจน์” ใดๆ ในแนวทางวิทยาศาสตร์ที่เขาเป็นผู้บุกเบิก ยิ่งกว่านั้นกาลิเลโอยังเคยกล่าวไว้เลยว่า วิทยาศาสตร์คือ ของขวัญที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์

ผมมองเห็นคนตะวันตกเขานับถือศาสนาของเขาอย่างนี้ ศรัทธาใน “สิ่งเดียว” นั่นคือพระเจ้า และไม่งมงายในเรื่องอื่นๆ เลย

ศาสนาของคนตะวันตกเป็นศาสนาที่เกิดในทะเลทราย ซึ่งอันนี้ต่างจากศาสนาของคนตะวันออกที่เกิดในดินแดนกสิกรรม

ชนเผ่าในทะเลทรายดำรงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน นึกภาพออกนะครับว่า ทะเลทรายนั้นเป็นดินแดนที่กันดารเพียงใด การเดินทางผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจหมายถึงการเดินทางสู่ความตายได้ ศาสนาที่เกิดขึ้นที่นั่นไม่ว่าจะเป็นศาสนายิว ศาสนาคริสต์ และศาสนอิสลาม จึงต้องการ “พระเจ้าเพียงองค์เดียว” ที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เพื่อให้คนในศาสนิกชนทุกคนปฎิบัติตามได้อย่างเคร่งครัด

“ปัจเจกนิยม” จึงเกิดขึ้นกับผู้คนในศาสนาของพวกเขา พวกเขาต้องการ “ผู้ชี้นำ” ที่ยิ่งใหญ่ นำพาผู้คนให้พ้นภัย

ฟังดูยากๆ นะครับเรื่องศาสนานี่ แต่คิดดูแล้วน่าคิดต่อไปเรื่อยๆ ว่าหรือเป็นด้วยเหตุนี้ที่ทำให้พวกฝรั่งมีความเป็นปัจเจกบุคคลมาถึงทุกวันนี้ ไม่ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ฝรั่งให้ความสำคัญกับ “ผู้ยิ่งใหญ่” อย่างมาก และก็มีความมุ่งมาดในชีวิตที่จะเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่” ให้จงได้ และความทะเยอทะยานอันนี้นี่แหละ ทำให้ฝรั่งครองโลกมาหลายร้อยปีแล้ว

ถ้าคนตะวันตกให้ความสำคัญกับผู้ชี้นำผู้ยิ่งใหญ่ แล้วคนตะวันออกคิดอย่างไร ผมมองว่าพวกเราอยู่กับธรรมชาติที่ค่อนข้างเป็นใจ ไม่ต้องต่อสู้กับความแร้นแค้นมากนัก ทุกปีเพียงแค่ขอพรจากเทพประจำฤดูก็เพียงพอแล้ว

ลองนึกไปถึงผู้คนในภูมิภาคนี้ก็คงจะนึกออก ผมว่าพวกเรามีเทพเจ้ามากมายและเกือบทั้งหมดเป็นเทพเจ้าจากธรรมชาติแทบทั้งสิ้น เจ้าป่าเจ้าเขา พระแม่โพสพ แม่คงคา พระพิรุณ พระอัคคี ฯลฯ หรือเป็นเพราะคนตะวันออกอยู่กับธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดม จึงนึกถึง “บุญคุณ” แห่งธรรมชาติตลอดเวลา

ที่ผมต้องกล่าวเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะอยากให้คุณอารยาลองนึกดูว่า ก่อนที่ศาสนาพุทธจะเข้ามาที่ดินแดนแห่งนี้ เรานับถืออะไรกันอยู่ แม้แต่ในอินเดีย ดินแดนที่ก่อกำเนิดศาสนาพุทธ นั้นความเชื่อส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไร

ฮินดูและลัทธิไหว้เจ้าของจีนนั้น หากรวมกันก็นับได้ว่ามีเทพเจ้านับล้านองค์ และเทพเจ้านับล้านองค์ที่ว่าก็ล้วนคือทุกสิ่งทุกอย่างของธรรมชาติ

ความเชื่อทางฮินดูนั้นฝังรากอยู่ในไทยเราไม่น้อย เพราะพิธีพราหมณ์เป็นพิธีคู่บ้านคู่เมือง และคู่พระมหากษัตริย์มาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีแล้ว ความเชื่อเหล่านี้อยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิก่อนศาสนาพุทธจะเข้ามาเสียอีก

ระยะเวลาเพียงเจ็ดแปดร้อยปีเท่านั้น ที่แนวคิดของพระพุทธเจ้าปักหลักปักฐานอยู่ในอาณาจักรนี้ มีการผสมผสานของพุทธ, ฮินดู และการไหว้ผีสางแบบคนพื้นถิ่น จนกลายเป็นศาสนาพุทธแบบไทยๆ ที่คุณอารยาเห็นอยู่

เอาเข้าจริงๆแล้ว ที่คุณอารยามองว่าสังคมพุทธเราทำไมถึงให้ความสำคัญกับปาฏิหาริย์ ทั้งๆ ที่ศาสนาพุทธก็ไม่เคยพูดถึงพระเจ้า แต่ในความเป็นจริงแล้วเรามีพระเจ้านับล้านๆ องค์อยู่ในความเชื่อมาช้านา

น่าคิดต่อนะครับ เรามีศาสนาประจำชาติที่มีแนวความคิดเรื่อง “การพิจารณา” เป็นแก่น แต่เราก็มีความเชื่อในเรื่องบุญคุณแห่งธรรมชาติ เทพเจ้าแห่งธรรมชาติ ที่ฝังลึกไม่แพ้กัน

แล้วผมก็เชื่อว่าตัวคุณอารยาเองก็คงต้องเคยยกมือไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา พระพิฆคเนศ หรืออย่างน้อยสุดก็คงต้องเคยลอยกระทงขอขมาพระแม่คงคา

ถามว่าสิ่งเหล่านี้คือความงมงายไหม

คนเรามองเรื่องนี้ที่เจตนาว่าไหมครับ ถ้าหากมีหญิงชราคนหนึ่งยกมือไหว้ศาลหลักเมือง แล้วก็พึมพำอธิษฐานขอให้ถูกหวยสักงวด เพื่อจะได้ปลดหนี้สินเสียที กับหญิงชราอีกคนหนึ่งยกมือไหว้ท้องฟ้า ขณะที่บ้านเมืองกำลังเกิดวิกฤติ แล้วก็พึมพำอธิษฐานว่า ขอพระสยามเทวาธิราชคุ้มครองประเทศชาติด้วย

คุณอารยาจะมองหญิงชราสองคนนั้นอย่างไร คนแรกงมงาย หรืองมงายทั้งสองคน หรือไม่มีใครงมงายเลย

คุยกับประภาส, 17 กรกฎาคม 2548
www.prapas.com/doc.php

ภาพจากเว็บบอร์ด board.palungjit.com
.................................................................................................



เราจะเปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างไรโดยเริ่มที่ "ตัวเรา"? ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมเราจะสามารถลงมือแก้ไขด้วย "ตัวเรา" ได้อย่างไร? ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกๆ ปีจะมีประเด็นเชิญชวนให้นักศึกษาเป็น "พลเมือง" หรือ "กำลัง" ของ "เมือง" ที่ลงมือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง โดยพิมพ์ลงในถุงผ้าและหน้าปกคู่มือนักศึกษาใหม่ที่จะแจกให้กับนักศึกษาใหม่ทุกปีครับ

ปี ๒๕๕๔ สโลแกนคือ "เปลี่ยนตนเอง เปลี่ยนธรรมศาสตร์ เปลี่ยนประเทศไทย" ปี ๒๕๕๕ "แก้ปัญหาโลก แก้ปัญหาไทย ทำได้ด้วยตัวเรา" และปี ๒๕๕๖ จะเป็นเรื่อง "ทุจริต" ทั้งนี้ตามมติของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่จะร่วมกันให้มหาวิทยาลัยช่วยกันรณรงค์แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นสโลแกนของปีนี้คือ "คอร์รัปชันต้องเริ่มแก้ที่ต้วเรา หยุดทุจริต หยุดใช้เส้นสาย หยุดให้สินบน" ซึ่งไม่ใช่แค่สโลแกนของธรรมศาสตร์ แต่จะเป็นสโลแกนที่จะใช้ร่วมกันได้ทุกมหาวิทยาลัยครับ

และในภาพนี้คือถุงผ้าที่จะแจกให้นักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีนี้ ออกแบบโดยอาจารย์ชุมเขต แสวงเจริญ รองคณบดีฝ่ายการนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองครับ
.................................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น