วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

12/05/2556

...........................................................................................................................




^________^;

..............................................................................................................................

................................................................................................................................



» `วิถีปัจจุบัน´ ของ...ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

บุคลิกภาพอย่างผมมันเข้ากันไม่ได้กับเศรษฐกิจฟองสบู่... มันเข้าไม่ได้กับระบบที่แข่งขันเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราเชื่อเรื่องความสมถะสำรวม เชื่อเรื่องแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

เพราะฉะนั้น...จึงเกิดสภาพที่เรารู้สึกถูกกดดันและถูกตามล่าตามล้าง รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว คิดอะไรไม่เหมือนเพื่อนพ้องคนรอบข้าง ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนเหมือนกับว่าเราไม่เคยพบกับการต้นรับที่ดี เราเข้ากับเขาไม่ได้

สิ่งเหล่านี้...นำพาผมมาถึงจุดที่รู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรงอย่างยิ่ง

กระทั่งนำไปสู่ชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว

:::::::::::::::


หลัง ๒๕๔๐ ไม่นาน...ผมกับภรรยาได้แยกทางเดินกัน แม้เราจะไม่ได้โกรธเกลียดกันและเพียงเปลี่ยนความสัมพันธ์จากคู่ครองมาเป็นเพื่อน แต่มันก็สั่นคลอนความรู้สึกนึกคิดของผมอย่างถึงราก

ตอนนั้นผมเริ่มเข้าสู่วัย ๕๐ กว่าแล้ว...ผมต้องถามตัวเอง ว่าจะยืนต้านกระแสหลักในสังคมแบบที่ผ่านมา แล้วสะสมความเจ็บปวดขมขื่นต่อไป หรือ ควรเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมเสียใหม่เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้

มีหนทางไหนบ้างที่เราไม่ต้องทุกข์ทรมานขนาดนี้...ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องยอมเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เราไม่เห็นด้วย

ในช่วงนี้...ผมได้ลงลึกสำรวจวิจารณ์ตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตาย และในที่สุดก็ค้นพบว่ามีอะไรบางอย่าง ไม่ถูกในวิธีคิดของผมเอง

:::::::::::::::


ประการที่หนึ่ง :

ที่ผ่านมาผมยึดถือในการต่อสู้และมองโลกเป็นความขัดแย้งมากเกินไป ที่ทางธรรมะเขาเรียกว่า ทวินิยม (Dualism) เห็นว่าทุกอย่างดำรงอยู่เป็นคู่ มีดีมีชั่ว มีขาว มีดำ แล้วก็ไปยืนเลือกข้างใดข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ต่อสู้กันมากก็เหนื่อยมาก ตัวผมเองทั้งถูกทำร้ายและทำร้ายผู้อื่นมาอย่างต่อเนื่อ

ประการที่สอง :

ผมเริ่มมองเห็นว่าอะไรหลายๆ อย่างที่ผมยึดถือ เป็นเรื่องที่ผมคิดไปเอง เป็นอัตวิสัย ที่โลกเขายังไม่พร้อมจะเห็นด้วย เราพยายามเอาตัวเองไปบังคับโลก เมื่อไม่ได้ ดังใจก็ผิดหวังเศร้าโศก แล้วยังโดนเขาตอบโต้มาแรงๆ

เพราะฉะนั้น `เหตุแห่งทุกข์´ จึงอยู่ในอัตตาของเราเอง ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอุดมคติหรืออุดมการณ์อะไรก็ตาม การวิจารณ์ตัวเองใน ลักษณะนี้ได้พาผมย้ายความคิดจากทางโลกมาสู่ทางธรรมมากขึ้นแบบรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง

:::::::::::::::


แต่นั่นยังไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเท่ากับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นระยะนั้น

ประสบการณ์ดังกล่าวมีพลังมากกว่าเหตุผลและความคิดใดๆ พูดให้ชัดขึ้นก็คือ ความเจ็บปวด กับชีวิตมากทำให้ใช้วิธีตัดตัวเองออกจากอดีตและอนาคต ทำให้ผมอยู่กับปัจจุบันขณะ

ซึ่งถ้าพูดในภาษาธรรมเวลานี้ผมรู้แล้วว่ามันคือ...สมาธิ แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าคืออะไร รู้แต่ว่าสบายใจ โปร่งโล่งไปหมด อยู่กับปัจจุบันขณะ

มันทำให้เราปลดแอกตัวเราออกจากภาระทางจิต ที่เราแบกมาตลอดว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เคยผ่านอะไรมาบ้าง ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราปลดออกหมด เรียกว่าปลดแอกจากอัตตา

:::::::::::::::


ในตอนแรก...ผมทำสิ่งนี้ไปเพื่อหาทางดับทุกข์ด้วยตัวเอง โดยไม่มีทฤษฎีอะไรชี้นำ แต่ว่าทำแล้วรู้สึกว่ามันช่วยให้อยู่รอดในช่วงที่เราอาจจะอยู่ไม่รอด...ก็เลยยึดไว้เป็นแนวทาง

พอไม่คิดว่าตัวเองเป็นใคร ความรู้สึกทุกข์ร้อนมันหายไปมาก

ข้อแรก...ไม่เดือดร้อนว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร
ข้อสอง...ไม่มีความเห็นว่าโลกและชีวิตควรจะเป็นอย่างไร

เราไม่มีข้อเรียกร้องทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เช่นเดียวกับการที่เราไม่เอาอดีตมากลุ้มและเอาอนาคตมากังวล

มันทำให้เราไม่มีสิ่งที่ผิดหวัง ไม่มีสิ่งที่เสียใจ ผมทำอย่างนี้อยู่พักใหญ่ ทีแรกก็เหมือนกับหลอกตัวเองด้วยการปิดกั้นความทุกข์โศกไม่ให้มันเข้ามาในห้วงนึก

แต่พอทำไปมากขึ้น ปรากฏว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตขึ้นมาโดยไม่ได้คาดฝัน คือตื่นขึ้นมาวันหนึ่งผมรู้สึกมีความสุขอย่างไม่มีเหตุมีผล

ผมรู้สึกได้ว่าความสุขมันมาจากข้างใน มันอยู่ในตัวผม เป็นความปลื้มปีติอะไรบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับโลกภายนอกเลย เรื่องราวทุกข์โศกที่เคยมีมาดูเหมือนจะหายไปหมด

:::::::::::::::


จากนั้นความรู้สึกที่ผมมีต่อโลกรอบๆ ตัวก็เปลี่ยนไปด้วย ผมเริ่มไปนับญาติกับต้นไม้ จิ้งจก นก หนู กระรอก ผมพูด กับพวกเขาเหมือนเป็นคนด้วยกัน ทำร้ายเขาแบบเดิมๆ ไม่ได้

กระทั่งมดผมก็ไม่ฆ่า จิ้งจกตกไป ในโถส้วมก็คอยช่วย มดมาขึ้นชามอาหารที่ผมให้หมา ผมต้องเคาะออก ไม่เอาน้ำราดลงไป ทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

มันรู้สึกขึ้นมาเองว่าไม่อยากทำร้ายชีวิตใดๆ ผมแปลกใจมาก เพราะว่าเดิมเป็นคนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาเยอะ เป็นคนที่ทำบาปมาเยอะมาก วันดีคืนดีพบตัวเอง มีจิตใจแบบนี้ มันอธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าเป็นไปได้อย่างไร

:::::::::::::::


แล้วที่สำคัญก็คือในความเบิกบานจากข้างในนี้ ผมเลิกรู้สึกพ่ายแพ้ขมขื่นกับชีวิตโดยสิ้นเชิง ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรน่าสงสาร ไม่ทุกข์ร้อนที่เคยแพ้สงครามปฏิวัติ หรือมีปัญหาส่วนตัวอะไรทั้งสิ้น

เป็นครั้งแรก...ที่ผมมองอดีตของตัวเองได้ทุกเรื่องด้วยความรู้สึกนิ่งเฉย

สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผมค้นพบว่า...ชีวิตทุกข์สุขขึ้นอยู่กับมุมมองมากทีเดียว และบ่อยครั้ง เรามักเอาความคิดสารพัดไปปรุงแต่งมันจนรกรุงรังไปหมด กระทั่งหาแก่นแท้ไม่เจอ

บางคนยึดติดเงื่อนไขภายนอก โดยเฉพาะเงื่อนไขทางวัตถุและการชื่นชมของสังคม ก็หลับหูหลับตาหาแต่วัตถุและการยอมรับของคนอื่น

บางคนอย่างผมไม่ยึดถือวัตถุมากเท่ากับยึดติดในอุดมคติต่างๆ ก็ทำให้เกิดอารมณ์ทางลบสูงมาก เราจะต้านทุกอย่าง ที่ไม่เป็นไปตามคิด ผูกตัวเองไว้กับตัวความคิด แล้วหลงความคิด จิตใจก็มีแต่ว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน ทะเลาะเบาะแว้ง ทุกข์ร้อนอยู่ตลอดเวลา

:::::::::::::::


ท้ายที่สุดแล้ว...ผมคิดว่าชีวิตที่จะให้ความสงบแก่คุณได้ คือชีวิตที่ไม่มีจุดหมายกดทับ ไม่มีอุดมคติเป็นเครื่องร้อยรัด แต่เป็นชีวิตที่มีมรรควิถี

ผมเคยเขียนว่า...แต่ละก้าวที่คุณก้าวไป มันสำคัญกว่าจุดหมาย คุณเป็นหนึ่งเดียวกับ ก้าวนั้นหรือเปล่า ถ้าคุณเป็นหนึ่งเดียวกับก้าวนั้นวันนี้คุณพบตัวเองแล้ว แต่ละนาทีที่ผ่านไป ก็ครบถ้วนแล้ว

แต่ถ้าคุณขัดแย้งกับปัจจุบันขณะของคุณอยู่ตลอดเวลา ตัวทำอย่างหนึ่ง ใจอยากทำอีกอย่างหนึ่ง คุณจะมีแต่ความทุกข์ ...นั่นคือชีวิตของคนในโลกปัจจุบัน?

:::::::::::::::

Credit : บทสัมภาษณ์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล พิมพ์ลงในนิตยสารปาจารยสาร (ฉบับตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๔๙)
 
........................................................................................................................


จาก Status : คุณ Doungchampa Spencer

วันนี้ ดิฉันขอแชร์บทความทางวิชาการดีๆ จาก Page ของ อาจารย์ณหทัย (@Tanya Nahathai ) ซึ่งเป็นบทความเชิงเปรียบเทียบ

อยากให้เพื่อนๆ ช่วยแชร์บทความนี้กัน เพราะเป็นบทความที่ดีและเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้อ่านทุกท่านค่ะ

บทความได้แสดงให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งถ้าเราไม่เคยอ่านบทความนี้มาก่อน เราก็คงมีความรู้แต่เพียงว่าเป็นประเทศยากจนประเทศหนึ่งในทวีปอัฟริกา จะมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยทำไมกัน

แต่เมื่ออ่านบทความจบลงไปแล้ว ดิฉันมีความตกตะลึงเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการวางแผนและการสร้างนโยบายภายในประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนภายในระยะเวลาเพียงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้

เรื่องที่น่าทึ่งเป็นอย่างยิ่งคือ การสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอัฟริการวมไปถึงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่มีระยะทางมากกว่า 4 พันกิโลเมตร

นอกจากนั้น บทความยังเสนอให้เห็นถึงสิ่งที่ดีมากๆ นั่นคือ การได้รับความช่วยเหลือจาก Bill & Melinda Gates Foundation ซึ่งตัวนายบิลล์ เกทส์เองเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างศูนย์สุขภาพภายในประเทศเอธิโอเปียเป็นหมื่นๆ แห่ง

อ่านดูแล้ว ก็คิดถึงประเทศไทยว่า จะต้องลงไป "แข่งขัน" กันกับประเทศในทวีปอัฟริกาอย่างนั้นหรือ เพราะประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนต่างเดินหน้ากันไปเกือบหมดแล้ว

เรายังมีกลุ่มซึ่งพยายาม “ฉุด” ประเทศให้หยุดนิ่งอยู่กับที่ในความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" ในปัจจุบัน นี่ถ้าเกิดมีการ “แช่แข็ง” ประเทศเกิดขึ้น มันจะยิ่งไม่ร้ายไปมากกว่านี้หรอกหรือ?

Happy Mother’s Day ค่ะ

Doungchampa Spencer




ท่านคิดว่าอีกกี่ปีเอธิโอเปียจะสามารถพัฒนาล้ำหน้าประเทศไทย?

Ethiopia’s Journey from Poverty to Prosperity: การเดินทางของประเทศเอธิโอเปียจากความยากจนไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

แปลและเรียบเรียงจาก: http://www.africanglobe.net/business/ethiopias-journey-poverty-prosperity/
โดย: Haddis Tadesse

อัฟริกันโกลบ (Africanglobe) – กวางผาวาเลีย (walia – อ้างอิง:http://en.wikipedia.org/wiki/Walia_ibex) เป็นสายพันธุ์หนึ่งของกลุ่มแพะภูเขา (ibex) ซึ่งพบในเขตภาคเหนือของประเทศเอธิโอเปีย (Ethiopia) เท่านั้น เมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา จำนวนกวางผาเหล่านี้มีเหลืออยู่น้อยกว่า 200 ตัว กวางผาวาเลียอยู่ในระยะอันตรายต่อการสูญพันธุ์ (extinction) อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ กวางผาวาเลียก็ยังถือว่าเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (endangered species) แต่ด้วยการนำมาตรการการอนุรักษ์เข้ามาบังคับใช้ ประชากรของกวางผาวาเลียจึงกำลังค่อยๆเพิ่มขึ้น ทุกสิ่งกำลังคืบหน้าด้วยดี

การพัฒนาประเทศเอธิโอเปียซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของกวางผาวาเลียนั้น มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก เกิดขึ้นเมื่อผู้นำต่างๆ ทั่วโลกได้ร่วมประชุมกันที่เมือง Cape Town สาธารณรัฐอัฟริกาใต้ (South Africa) หัวข้อการประชุมเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกของประเทศในทวีปอัฟริกา (World Economic Forum on Africa) พวกเขาไม่ได้มาพูดคุยกันเรื่องกวางผาวาเลีย แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศต่างๆ เช่น ประเทศเอธิโอเปีย และมีการเปรียบเทียบบันทึกการประชุมกันในเรื่องที่ท้าทายและโอกาสต่างๆที่ประเทศเหล่านั้นจะได้แสดงศักยภาพให้เห็น

ข้าพเจ้าเดินทางออกมาจากประเทศเอธิโอเปียเมื่อปลายทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523-2533) เมื่อประเทศยังมีความวุ่นวายอยู่กับสงครามกลางเมือง (civil war) ข้าพเจ้าเดินทางกลับมายังประเทศนี้เมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา ในฐานะตัวแทนของมูลนิธิบิลล์ และ เมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงอาดิส อาบาบ้า (Addis Ababa) ความเจริญรุดหน้าของประเทศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นหลักฐานที่เห็นได้ชัด จำนวนเด็กและเยาวชนที่เสียชีวิตในประเทศเอธิโอเปียลดลงมากกว่า 60 % ในช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าออกมาจากประเทศ และปัจจุบันนี้ สถานการณ์ได้พัฒนาไปในทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง

ตามที่คุณบิลล์ เกตส์ ได้อธิบายไว้ในรายงานประจำปี (Annual Letter) ของปีนี้ว่า “วันนี้ ประเทศเอธิโอเปียมีศูนย์สุขภาพ (health posts) มากกว่า 15,000 แห่ง เพื่อให้การดูแลสุขภาพเบื้องต้น ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารมากที่สุดในประเทศที่มีประชากร 85 ล้านคน” ด้วยการใช้หลักการของ “เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ” หรือ Millennium Development Goals (อ้างอิง: http://th.wikipedia.org/wiki/เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ) เป็นมาตรการ ประเทศเอธิโอเปียกำลังเดินหน้าสู่ความสำเร็จด้วยการบรรลุถึงเป้าหมายเกือบทั้งหมดภายในปี 2015 (พ.ศ. 2558) นี้

การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นเป็นเรื่องที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทศวรรษที่แล้ว การเจริญเติบโตของประเทศเอธิโอเปียอยู่ในระดับที่แข็งแรงที่สุดในโลก ต้องให้เครดิตบางส่วนกับนโยบายที่ดีกว่าเดิม, การเพิ่มผลผลิตและการเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) สำหรับทุนทรัพย์ส่วนบุคคลนั้นได้เพิ่มระดับความเข้มแข็งในเมืองหลวงที่กรุงอะดิส อาบาบ้า โดยที่เจ้าของกิจการต่างๆ ภายในประเทศทำการขยายธุรกิจของพวกเขามากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ความงดงามซึ่งข้าพเจ้าได้ประจักษ์ตั้งแต่การกลับสู่ประเทศของข้าพเจ้า อาจเนื่องจากฝ่ายรัฐบาล, ผู้บริจาค, เอกชนและประชาชนโดยทั่วไป ล้วนตระหนักว่า ความเจริญเติบโตและความรุ่งเรืองนั้น สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ ถ้านโยบายและยุทธวิธีที่ควรดำเนินการ ได้ถูกนำมาปฎิบัติกัน

ประเทศชาติในขณะนี้ไม่อยู่ในภาวะอัมพาตอีกต่อไป เนื่องจากความยุ่งยากซับซ้อนที่ท้าทายต่อการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนวิธีการคิด จาก “เราไม่สามารถทำมันได้หรอก” ไปเป็น “เราสามารถทำได้” ได้สร้างความกล้าเสี่ยงให้กับประเทศต่อความฝันขนาดใหญ่ เป็นต้นว่า เริ่มมีความมั่นใจต่อการมีอาหารสำรองอย่างเพียงพอภายในประเทศในระยะเวลาอีกสองสามปีข้างหน้า, การสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอัฟริกา (largest hydroelectric power plant in Africa) และการก่อสร้างระบบขนส่งรถไฟฟ้า (electrified railway system) เป็นระยะทาง 4,744 กิโลเมตร, สร้างเขตอุตสาหกรรมการผลิตขนาดย่อย (light manufacturing industrial zones) นอกจากนั้น การปรับปรุงที่สำคัญ ได้แก่ โครงการด้านสุขภาพและการศึกษา เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติ

ในเวลานี้ ประเทศเอธิโอเปียได้ทราบว่า ประเทศไม่ต้องสร้างกงล้อขึ้นมาใหม่ เพื่อการแสวงหาความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศ เมื่อมองไปที่ประเทศต่างๆ เช่น ประเทศอินเดีย, มาเลเซีย, จีน, บราซิล, เตอร์กี และประเทศอื่นๆ แล้ว ประเทศเอธิโอเปียสามารถแสวงหารูปแบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแบบใหม่ ที่สามารถประคับประคองความเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ซึ่งสร้างความสำเร็จได้ ประเทศเอธิโอเปียอยู่ในสถานะที่ดีต่อการหลีกเลี่ยงเข้าไปสู่กับดักของความยากจน แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ความท้าทายระดับต้นๆของโครงสร้างพื้นฐาน, ทรัพยากรมนุษย์และการเงิน รวมไปถึงอุปสงค์ด้านการตลาดจะต้องนำมาพิจารณากันอย่างละเอียด

ถ้าเราสามารถทำให้กวางผาวาเลียกลับมาจากสถานะที่เกือบสูญพันธุ์ได้ แน่นอนว่า เราก็สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างดีเลิศที่ประเทศชาติหยิบยื่นให้กับเรา และปรับปรุงสุขภาพและชีวิตให้กับประชาชนทุกๆ คนที่อาศัยอยู่ในประเทศเอธิโอเปียได้เช่นกัน

.........................................................................................................

ความคิดเห็นของผู้แปล:

ถ้าดิฉันไม่ได้อ่านบทความนี้ ดิฉันก็ยังคงคิดว่า ประเทศเอธิโอเปีย เป็นประเทศที่ยากจนมากจนประชาชนแทบไม่มีอะไรจะกินกัน ท่านมีความคิดเช่นนั้นหรือไม่คะ ถ้าใช่ก็แสดงว่า เราไม่ได้สนใจต่อความเจริญก้าวหน้าของประชาคมโลกกันเลย

ประเทศเอธิโอเปีย มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยสองเท่าเศษๆ ประชากรเกือบสองในสามของประเทศนับถือศาสนาคริสต์ และเกือบหนึ่งในสามนับถือศาสนามุสลิม เอธิโอเปีย เคยปกครองด้วยระบบกษัตริย์มาก่อนที่จะมีการปฎิวัติโดยทหาร เมื่อปี พ.ศ. 2517 การรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้งภายในประเทศ และมีสงครามกลางเมืองย่อยๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังประสบภัยแล้งที่สุดภายในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา

ผู้เขียนบทความ ทำงานให้กับมูลนิธิ บิลล์และเมลินดา เกตส์ ซึ่งทุกท่านคงทราบดีว่า นายบิลล์ เกตส์คือ เจ้าของบริษัท Microsoft ที่ในขณะนี้ทำงานเพื่อการกุศลให้กับชาวโลกด้วยการสร้างศูนย์อนามัยและศูนย์การแพทย์ให้กับประเทศที่ยากจนทั่วโลก พวกเขาพยายามทุกวิถีทางที่จะให้เงินทุนในการศึกษาค้นคว้า เพื่อกำจัดโรคภัยไข้เจ็บของมวลมนุษยชาติ นายบิลล์ เกตส์ยังช่วยเหลือด้วยการสร้าง “ส้วม” ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในถิ่นทุรกันดาร โครงการนี้เรียกว่า Solar-powered toilet ซึ่งช่วยสร้างสุขอนามัยให้กับประชาชน

ประเทศไทยก็มีคนหรือตระกูลที่ร่ำรวยถึงร่ำรวยมหาศาลจำนวนมาก แต่ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ social responsibilities นั้น มีมากน้อยเพียงใด ทุกท่านก็ลองหันกลับไปมองในอีกมุมหนึ่งของพวกเขา ในเมื่อผู้ที่สร้างความร่ำรวยให้กับพวกเขา แท้จริงแล้วก็คือประชาชนภายในประเทศ แล้วพวกเขาตอบแทนผู้มีพระคุณของพวกเขาหรือไม่? อย่างไร?... ท่านยังคงรู้สึกปลื้มกับความร่ำรวยพวกเขาเหมือนเดิมอยู่หรือไม่คะ?

GDP Per Capita ของประเทศเอธิโอเปีย อยู่ที่ $1,200 เมื่อเทียบกับ $10,125 ของประเทศไทย โดยที่การสร้างความเจริญรุ่งเรืองของประเทศเอธิโอเปียยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ท่านคิดว่าอีกกี่ปีเอธิโอเปียจะพัฒนาจนก้าวแซงหน้าประเทศไทย หากประเทศไทยยังคงย่ำอยู่กับที่จากการขัดขากันเองเพื่อให้ล้มคว่ำ? หรือความเจริญก้าวหน้าของประเทศจะต้อง “รอ” เพื่อให้บุคคลเพียงกลุ่มเดียวเป็นผู้อนุญาต? หรือท่านจะรอให้ฝุ่นที่ตาของท่านจากลงเอง แต่เมื่อนั้นท่านจะเห็นว่า ทุกประเทศเขาเดินหน้ากันไปจนตัวท่านและลูกหลานของท่านมีสภาพไม่ต่างจาก "เด็กเอธิโอเปียในอดีต" ในสายตาของของชาวโลก! ท่านจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจจริงหรือ…หากท่านคือผู้หนึ่งที่ทำให้ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของท่านกลายเป็นประเทศกลุ่มรั้งท้ายที่สุด?…

รศ.พ.ต.อ.หญิง ณหทัย ตัญญะ ผู้แปลและเรียบเรียง

เชิญแชร์ได้ตามสบายค่ะ

.........................................................................................................................

.............................................................................................................................


จากที่สถานะที่แล้วผมพูดบ่นเรื่องกุ้งแม่น้ำอยุธยา มีใครพอทราบมั้ยครับว่ารัฐหรือเอกชนที่ไหนคิดวิจัยเพาะเลี้ยงหรือแพร่พันธุ์อาหารชนิดนี้จริงๆ จังๆ เป็นหลักเป็นการบ้างหรือเปล่าครับ เพราะเท่าที่หาดูคร่าวๆ ด้วยกูเกิ้ลนี่ไม่เจอเลย

คือจะบ่นว่าชอบบอกกันจังว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่การวางแผนทางการเกษตร การทำตลาดทางการเกษตร ประสิทธิภาพเชิงการเกษตร และองค์ความรู้ในทางการเกษตรปศุสัตว์นี่มันถึงได้ห่วยขนาดนี้ ถ้าเทียบกันแล้วประสิทธิภาพเราห่วยติดอันดับโลกนะครับ แล้วของดีๆ ทั้งหลายที่เราเกิดมาโชคดี ทั้ง กุ้งแม่น้ำ มะม่วงสุกข้าวเหนียว หอยนางรมสุราษฎร์ (ลองเทียบกับหอยนางรมฝรั่ง ผมว่าของไทยเรามีจุดเด่นครับ อ้วนดี) เหมือนเราก็ปล่อยเลยตามเลยอ่ะครับ ถ้าเป็นญี่ปุ่นนะนอกจากจะสร้าง Story ให้แล้วเค้าจะยังพยายามเพาะเลี้ยงและวิจัยเข้าหลักวิชาการหมดละครับ ไม่มีหรอกที่จะปล่อยให้เกิดให้โตให้จับกันเองโดยไม่มีการวางแผน

เรามีดินที่ดีที่สุด มีพันธุ์อาหารที่ดีมากมาย มันน่าเสียดายครับที่เราไม่คิดจะเข้าไปวางแผนจัดการเลย แล้วก็ปล่อยให้ชะตาฟ้าลิขิตกันเอาหมด ประเทศไทยผลิตข้าวได้อันดับต้นๆ ของโลก แต่เทคนิคการปลูกข้าวมีประสิทธิภาพต่อไรต่ำอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน และการทำ QC ควบคุมคุณภาพข้าวก็มี Waste เยอะมาก สิ่งเดียวที่ดีคือพันธุ์เราดี (ซึ่งเราไม่ได้ทำห่าอะไรเลยแค่สวรรค์ประทานมาให้) กับชาวนาเราเยอะ สองอย่างครับ

ผมถึงต่อต้านโครงการทั้งจำนำและ/หรือประกันราคาข้าวครับ เพราะถ้าประสิทธิภาพต่ำ คุณภาพก็ต่ำด้วย ยังงี้มันให้ฝืนกลไกตลาดไม่ได้หรอกครับ ยังไงก็แพ้ครับ ชาวนาเราต้องจนกว่าประเทศอื่นแน่นอน เพราะเราไม่เก่งเท่าเค้า ถ้าจะแก้ต้องแก้ให้เพิ่มความรู้ความสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพลงไป ไม่ใช่แจกเงินชดเชยอย่างเดียว แต่ไม่มีมาตรการพัฒนาความรู้ความสามารถการเกษตรเลย

แล้วถ้ามึงไม่คิดจะพัฒนาความรู้ความสามารถทางการเกษตร มึงจะเรียกตัวเองว่าประเทศเกษตรกรรมทำไมวะ

..........................................................................................................................




เศษกิ่งไม้กับแก้ว ใส่ทรายหรือโฟมก็สวยไฮโซได้ง่ายๆ เหมาะสำหรับกิจกรรมครอบครัวในวันหยุด

.....................................................................................................................................


อันนี้มันโดนจริงๆนะเนี่ย!
ที่ประเทศมันไม่เจริญ ไม่ต้องไปโทษนักการเมือง โทษห่าโทษเหวอะไรหรอก ตราบใดที่ยังมีประชากรพวกอีโก้สูง คิดว่าตัวเองฉลาด สูงสุงกว่าคนอื่น เชื่อแต่ข่าวไร้สาระ ไม่มีมูล บางครั้งก็อ่านแต่พาดหัวข่าวโดยไม่ศึกษารายละเอียด แล้วก็แชร์ส่งๆกันไป ด่ากันไปวันๆ พอเค้าออกมาแจงข้อเท็จจริง ก็หนีไปหยิบเรื่องอื่นมาด่าต่อ....บ่องตงเลยน่ะ ต่อให้ ลินคอร์น มากาเร็ตเท็ตเชอร์ แมนเดล่า เหมาเจ๋อตุง ลีกวนยู มาเป็น นายก กุว่าก็ไม่ได้เรื่องหรอก


  • Thinnakorn Tankaya อาทิตย์หน้าเล่นเรื่องหมีแพนด้า

  • Supapong Wanitpongpan ที่จริงเรื่องหมีแพนด้า สำหรับตอนนี้ผมไม่เห็นด้วยที่จะยื้อไว้นะ 
    คือช่วงแรกที่เอามา เป็นของแปลกใหม่ สามารถสร้างรายได้ นักท่องเที่ยวมาก็จะเข้าไปดูอย่างแน่นอน 
    แต่ตอนนี้มันจืดไปละ ก็คงต้องดูว่า มีจุดประสงค์อื่นอีกหรือเปล่า ในการเอาหมีแพนด้าไว้ 
    ประเด็นที่
    เห็นเอามาโต้แย้งคือเป็น ทูตสันถวไมตรี ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าในความเป็นจริงแล้ว มันมีผลมากหรือน้อยแค่ไหน แม้จีนจะให้ความสำคัญกับแพนด้ามากก็เถอะ

    แต่การเอาไปโยงกับเรื่องยุบโรงเรียน ว่างบไม่พอ ผมว่ามันไร้สาระมาก 
    เรื่องยุบโรงเรียนนี่ ที่บอกว่างบไม่พอก็เป็นพวกที่จับใจความไม่ได้ ไม่หาข้อมูลให้ชัดเจน หรือจงใจบิดเบือนเท่านั้น 

    แต่ขอโทษ คนที่เชื่อก็เยอะมากนะครับ - -"

  • Thinnakorn Tankaya ผมว่ายื้อได้ก็ควรยื้อนะ ก็เห็นๆอยู่ว่ามันขายได้ พูดกันแต่ค่าใช้จ่ายไม่พูดถึงผลตอบแทนกันเลย ถ้าไม่คุ้มเค้าถีบส่งแพนด้าไปนานแล้วแหละ

  • จักรพงษ์ จำรูญ น่าจะทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนหมีกับช้างไทย
    ... ใครจะสน ... จริงมะ

.......................................................................................................................




คนคิดลบมีร้อยเหตุผลที่จะร้องไห้ ในขณะที่คนคิดบวกมีพันเหตุผลที่จะยิ้ม - fb

............................................................................................................................

............................................................................................................................


สำหรับคนที่เคยบอกว่า
อองซานไม่เคยให้ร้ายประเทศตัวเองนะครับ แหม่!!!


............................................................................................................................




แฟนคลับ "เจ้าชายน้อย" คงได้ข่าวนี้แล้วสินะว่าจะมี "เจ้าชายน้อยฉบับสำหรับคนที่พิการทางสายตา" เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงประโยคทองในหนังสือเล่มนี้

"สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา ต้องใช้หัวใจเท่านั้น"

CreativeMove เล่าเรื่องนี้ให้อ่านอย่างละเอียดแล้ว คลิกอ่านตรงนี้ http://www.creativemove.com/design/the-little-prince-sight-and-touch/

.............................................................................................................................

.............................................................................................................................


สัมภาษณ์ "อั้ม-เนโกะ" 1ปี สาวโหนรูปปั้น "ปรีดี" กับประเด็น "โซตัส - ชื่อใหม่ มธ."



สัมภาษณ์ โดย
ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
ทสิตา สุพัฒนรังสรรค์


วันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันปรีดี พนมยงค์" และ "วันแรกพบ" ที่สมาชิกใหม่ หรือ เพื่อนใหม่แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเข้ามาพบกันทั้งรุ่นเดียวกันและรุ่นพี่ ที่ มธ.พระจันทร์ 

"วันแรกพบ" เมื่อปีที่แล้วโลกออนไลน์ได้รู้จักกับ "อั้ม เนโกะ" หรือ "สาวโหนรูปปั้นปรีดี" ที่ได้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในประชาคมธรรมศาสตร์ ทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และคณาจารย์

บ้างวิจารณ์เธอว่า "ลบหลู่อาจารย์/ก้าวร้าว" แต่เธอก็ได้ตอบคำถามนั้นว่า เจตนาที่แท้ของการ "โหน" รูปปั้นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ปรีดี ก็เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมเหมือนกับทุกคน ซึ่งความเท่าเทียมนี้ก็คือ เป้าหมายของปรีดีที่ตั้ง "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกันในแง่การศึกษา ขณะที่ผ่านมา รูปปั้นปรีดี กลายเป็นรูปเคารพบนบานขอเกรด ซึ่งดูจะย้อนแย้งกัน

และเธอก็ได้ยืนยันกับ "มติชนออนไลน์" เมื่อปีที่แล้วว่า เพราะอาจารย์ปรีดี และ "เสรีภาพทุกตารางนิ้ว" รวมไปถึง "ความเสมอภาค" คือสิ่งที่ทำให้เธอเลือกเรียนที่ "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" จากก่อนหน้านี้เธอเคยเป็น "นิสิตใหม่" คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน

มาในปีนี้ "อั้ม เนโกะ" ก็ยังคงเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ขึ้นชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์

"มติชนออนไลน์" พูดคุยกับเธอ ในวันครบรอบ 1 ปี ของ "การโหนรูปปั้นปรีดี" 

มาดูกันว่า ปีนี้ "อั้ม เนโกะ" ไม่โหนรูปปั้นปรีดี แล้ว เธอจะโหนหรือขบถต่อสิ่งใด ? 

 

@ ครบรอบ 1 ปีวันนี้ มีใครทักเรื่องนี้หรือเปล่า

มีบ้าง เป็นเพื่อนในเฟซบุคและ ในคณะที่ใกล้ชิดกัน วันนี้มาวันแรกพบ ที่ท่าพระจันทร์ ไปฟัง เสวนา เรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ ที่ตึกโดม เจออาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มาเซอร์ไพร์ส ว่า นี่ดีใจด้วยคุณครบรอบ 1 ปีแล้ว อาจารย์บอกว่า วันนี้เป็นวันพิเศษ คิดว่าวันอะไร เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่คุณโหน (รูปปั้นอาจารย์ปรีดี)


@ 1 ปีที่ผ่านมา เป็นที่รู้จัก จากการเป็น “สาวโหนปรีดี” มีผลกระทบต่อตัวเองอย่างไร

ไม่มีผลเรื่องเรียน และก็มีบ้างที่เพื่อนนักศึกษามาทักบอกว่าเห็นรูปอยู่ในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ไม่เคยเจอการขู่ตรงๆ มีแต่นักเลงคีย์บอร์ด ปากดีในเฟซบุค แต่หลายคนบอกว่า พอได้เจอตัวจริงก็คุยสนุกบางคนก็กลายเป็นเพื่อนสนิท จากที่ตอนแรกที่ตั้งคำถามว่าทำแบบนั้นทำไม ได้แลกเปลี่ยนมุมมมองกัน จากเดิมถูกจินตนาการเป็นนางร้ายด่าจิก ด่ากราด

ส่วนที่เจอหนักสุด คือมีคนมาสาดน้ำใส่ แต่ไม่โดน ตอนนั้น ไปเป็นวิทยากรให้สภานักศึกษาที่ มธ.ศูนย์รังสิต พูดหัวข้อ “80 ปี ประชาธิปไตย ชนชั้นนำหรือชั้นล่างที่ไม่พร้อม” อาจเป็นเพราะเราพูดถึงชนชั้นนำ ก่อน 2475 แล้วไม่ถูกหูคนฟัง มีคนเดินเข้ามาถามว่าพูดมีหลักฐานหรือเปล่า ตอนแรกก็ตกใจ เพราะเขาถามแล้วก็ดึงกระดาษจากมือเราไป อีกคนสาดน้ำแต่ไม่โดน

 
@ ปีนี้ คิดว่าอยากรณรงค์เรื่องอะไร

เรื่องการปฏิรูปการรับเพื่อนใหม่ในมหาวิทยาลัย เพราะ มีคนเห็นดีเห็นงามกับระบบโซตัส ทั้งที่ การรับเพื่อนใหม่ มีการเปิดวีดิทัศน์ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่รุ่นพี่ มธ.ได้ทำ เพื่อให้เห้นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ แต่ พอไปใช้ชีวิตจริง กลับถูกจำกัดด้วยการรับน้องนอกสถานที่ หลายๆ คณะแม้กระทั่งคณะด้านสังคมศาสตร์มีโซตัสเต็มรูปแบบด้วยซ้ำ เราแปลกใจที่การศึกษาประวัติศาสตร์ การเมือง สังคมไทย กลับไม่ทำให้ตระหนักสิ่งที่รุ่นพี่ต่อสู้มา ไม่เข้าใจจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ กลับเห็นชอบอำนาจเผด็จการที่มาจากระบบโซตัส ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรง พร้อมๆ กับการพยามจะพูดเรื่องจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ เสมอภาค เสรีภาพทุกตารางนิ้ว

มองว่านักศึกษากำลังเชิดชูบุญเก่า และกลับรื้อระบบที่ ไม่สมเหตุสมผล แม้จะอ้างว่าไม่ได้รับน้องในมหาลัย แต่มีการรับน้องโต๊ะ



วันแรกพบเพื่อน และวันปรีดี ที่ มธ.ซึ่งมีการบังคับให้ถอดเสื้อ
ภาพและคำอธิบายจากเพจ "anti-sotus"


@ คิดว่าระบบโซตัส มีข้อดีหรือไม่

ไม่เห็นข้อดี เพราะ มีแต่อารมณ์ความรู้สึก เป็นเรื่องการตัดสินคุณค่าให้มีความรักสามัคคี ทั้งที่จริงแล้ว ความรัก บังคับกันไม่ได้ จะให้คนรักสามัคคี คิดแนวทางเดียวกันเป็นเรื่องยาก ความจริงแล้วควรจะคิดว่า ถ้าเขาไม่รัก เขาก็อยู่กับเราได้ ไม่จำเป็นต้องรัก สังคมเปิดกว้างมากพอ ไม่งั้นไม่ต่างจากสลิ่ม ที่อยากให้ต้องรักกันเท่านั้น ความรักบังคับไม่ได้เป็นเรื่องบุคคล

@ มองกระบวนรับน้อง หรือรับเพื่อนใหม่ ปัจจุบันเป็นอย่างไร

เอาจิตใจของน้องมาเป็นเครื่องมือ มาไซโค แสดงละคร หลอกลวงจนน้องร้องไห้รู้สึกผิด ใส่น้ำเสียงดุดัน
ส่วนตัวปีที่แล้ว โดนปิดตาให้กลิ้งทับกันเอง หนูลุกขึ้นบอกว่า ขอไม่กลิ้ง และเห็นว่า กระบวนการที่สร้างสรรค์และดีที่จะทำให้รักกันมีอีกเยอะ แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ชอบธรรม


@ ข้ออ้างหนึ่งที่ถูกใช้มาก คือ "ระบบโซตัสดี แต่คนใช้ไม่ดี"

ตัวระบบโซตัสมันอาจแล้วแต่คนชอบ แต่ในความเห็น มองว่า มันไม่ make sense เพราะทำให้คนอยู่ในวิธีคิดแบบเดียว อยู่ในระเบียบวินัย เคารพผู้อาวุโส ฉะนั้น จึงขอวิพากษ์ที่แก่นของแก่ความเป็นโซตัส ซึ่งไม่สมเหตุผล

Seniority - การเคารพผู้อาวุโส
Order - การปฏิบัติตามระเบียบวินัย
Tradition - การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี
Unity - การเป็นหนึ่งเดียว
Spirit - การมีน้ำใจ

ทั้งหมดนี้ โซตัส มันผิดกับวิสัยที่คิดว่ามนุษย์มีสิทธิเลือกเชื่อในสิ่งที่หลากหลาย มากกว่าความเป็นเอกภาพเดียว
สุดท้ายก็เหมือนกับการหลอกล่อโดยเล่นกับจิตใจของรุ่นน้อง/เพื่อนที่เข้ามาใหม่หลอกล่อ ใช้อำนาจกับเค้าก่อน รับน้องโหดบ้างไม่โหดบ้าง แต่สุดท้ายก็จะบอกให้เคารพ ซึ่งมองว่ามันไม่ถูกไม่ควร เพราะคนควรมีเสรีภาพที่จะเลือกที่รัก


@ เคยตั้งข้อสังเกตไหม ว่าทำไม ระบบโซตัสที่ใช้กับ "ระบบทหาร" ถึงมาอยู่ใน "ระบบการศึกษา"?

อ้างจากคำพูดของ ส.ศิวลักษณ์ หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา หลังจาก มธ. ถูกลดอำนาจทางการเมือง นักศึกษาถูกลดบทบาทลง ทหารเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลธานินทร์ รัฐบาลเปรม ระบบอาวุโสกลับมาเข้ามามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลทหารเข้ามามีอำนาจและกลายเป็นความคุ้นชิน ในที่สุดระบบที่ถูกยกเลิกในสมัย 6 ตุลา 2519  ก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง match กับสังคมของวัฒณธรรมไทยขณะนั้น

ระบบอาวุโส จึงถูกใช้ในแง่ การเคารพในอำนาจผู้ใหญ่ ซึ่งถูกตีความในแง่ "เด็กไม่มีสิทธิเถียงหรือตั้งคำถาม" ยุคหลัง 2519 จึงเป็นยุคที่ผู้คนอยู่ภายใต้ระเบียบวินัย สอดคล้องกับระบบการศึกษาของวัฒนธรรมไทย

"โซตัส" ก็เป็นอีกหนึ่งในเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยแบบจารีตเดิม แม้ตอนนี้จะมีการตีความในมุมมองที่ต่างไป แต่โซตัสก็เป็นภาพใหญ่ของมโนทัศน์แบบสังคมไทย มีมานานมาก

 
@ เมื่อ "โซตัส" ฝังรากอยู่ใน "วัฒนธรรมไทย" แล้วจะแก้อย่างไร ถึงแก่นเลยหรือเปล่า

ต้องแก้วิธีคิดของคนไทย คือเคารพก็เคารพไป แต่ต้องเคารพในหลักเหตุผล ไม่ใช่เพราะเพราะเขามาก่อนหรือเกิดก่อน  ต้องเคารพในความคิดและการเคารพนั้นต้องสามารถแลกเปลี่ยนหรือโต้เถียงได้ และต้องเป็นความเคารพที่อยู่ในหลักมนุษยธรรม ไม่ใช่ความอาวุโส

หรือแม้กระทั่งระเบียบวินัย ที่บอกว่าจะต้องแต่งกายยังไง ก็ต้องแก้ ตั้งแต่โรงเรียน อย่างที่บอกว่า การยกเลิกหัวเกรียนเป็นเพียงพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต้องแก้ถึงการรู้จัก "ตั้งคำถาม" ว่าการแต่งกายภายในชุดของระเบียบวิยนัยนั้น สามารถวัดหรือตัดสินคุณค่าของความเป็นมนุษย์ได้หรือไม่  นี่คือสิ่งที่สังคมไทยต้องถาม

นอกจากนั้น ต้องมีเสรีภาพ/มีพื้นที่ ให้กับคนที่ไม่ชอบ หรือ คนที่เห็นต่างไป คือ คุณไม่สามารถใช้บรรทัดฐานเดียวตัดสินคนทั้งหมด และทำให้ทุกคนอยู่ระดับเดียวกันหรือเหมือนๆ กันได้

รวมทั้งอาวุโส ความเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งต่อให้เขาบอกว่าไม่รัก ก็ไม่ได้หมายความว่าเกลียด แต่สังคมไทยเรากลับ ยัดเยียดความรักเข้ามา อย่างเข้ามาก็จะมีเสื้อฉันรักธรรมศาสตร์ ฉันรักจุฬาฯ การใส่คำว่ารัก "โดยไม่รู้ความหมาย" มันทำให้ความหมายของความรักมันพร่าเลือนไปจากความเป็นจริง

การที่คุณสอบติดมหาวิทยาลัยนั้นๆ แล้วรักเลย ทำไมไม่ตั้งคำถามว่ารักในที่นั้นเพราะอะไร สุดท้ายสังคมไทยเป็นสังคมที่ยัดเยียดอารมณ์ความรู้สึก ฉะนั้น ต้องแก้ทั้งกระบวนการ เพราะมันเป็นระบบที่ยึดโยงกัน 

@ ข้อเสนอของเรา คืออะไร การรับน้อง-โซตัส ควรปฏิรูปหรือยกเลิก

โซตัสควรยกเลิกไปเลย ส่วนกิจกรรม"รับเพื่อนใหม่" นั้นมีได้แต่ต้องไม่มีแก่นของโซตัส ต้องเคารพมนุษยธรรม เสรีภาพ

 
@ คิดอย่างไร มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ปัดความรับผิดชอบ "การรับน้องนอกสถานที่"

อย่างใน มธ. มีประกาศระเบียบกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ ที่ครอบคลุมการรับน้องนอกสถานที่ แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่อาจารย์จะควบคุมไปถึงต่างจังหวัด แต่อย่างน้อยมหาวิทยาลัยก็ควรแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่แค่ มธ. แต่ควรเป็นทุกที่

อย่างรับน้องโต๊ะ/ชมรม ถ้าบอกว่าไปในนามสถานบันการศึกษานั้นต้องมีส่วนรับผิดชอบส่วนหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าให้เกียรติมหาลัย แต่ให้เกียตริความเป็นมนุษย์ของคนที่มาร่วมกิจกรรม ซึ่งถ้าเขาตาย/บาดเจ็บ สมมุติแล้วรับน้องในชื่อชมรม มธ. พ่อแม่ย่อมตั้งคำถามว่า ทำไมเกิดเหตุแบบนี้ซึ่งไม่เคารพมนุษย์ในระดับทั้งร่างกายและจิตใจ นี่คือ หนึ่งในความรับผิดชอบที่ต้องมี และมหาวิทยาลัยต้องเด็ดขาด ไม่ใช่ผลักว่าเป็นปัญหาภายนอก เพราะสุดท้ายกิจกรรมต่างๆ มันก็ผูกอยู่กับชื่อของมหาวิทยาลัย


@ ทราบว่าเคลื่อนไหวเรื่องนี้ตั้งแต่อยู่จุฬาฯ (ครุศาสตร์) พอมาอยู่ มธ. ก็ยังเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ลองเปรียบเทียบ "แรงต้าน" ระหว่างสองสถาบันนี้


 
อย่างแรงต้านในจุฬาฯ เด็กจุฬาฯ ก็ยอมรับมาโต้งๆ ว่าเป็นอย่างนั้นจริง ซึ่งอาจจะดูล้าหลัง แต่แรงต้านใน มธ. มันร้ายลึกกว่ามาก และน่ากลัวจริงๆ เพราะมันเป็นวิวัฒนาการจาก การยอมรับแบบโต้งๆ เชยๆ แบบใน จุฬาฯ แต่ต่อมาก็มีการอ้างเสรีภาพ ใน มธ. คณะพวกสายวิทย์ก็จะออกมายอมรับโต้งๆ แต่ในคณะสายสังคมศาสตร์น่ากลัวมาก

คณะสายสังคม ส่วนมากเป็นการรับน้องโต๊ะ ซึ่งจะมีการอ้างว่าคุณมีเสรีภาพ เลือกได้ ว่าอยากอยู่หรือไม่อยาก ถ้าไม่อยากก็ออกไปจากโต๊ะ ลักษณะกิจกรรมก็เป็นการไซโค มีความรุนแรงถึงเนื้อถึงตัวบ้าง และมีสภาพคล้ายๆ กับห้องเชียร์ โดยคนที่ทำจะไม่รู้สึกผิด เพราะอ้างว่ามีเสรีภาพแล้ว แต่กิจกรรมเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องในแง่ของหลักการของการมีอยู่ เพราะมันไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน คือ ก่อนเริ่มกิจกรรม น้องหลายคนมีภาพว่า เป็นกิจกรรมที่เฮฮา ซึ่งคนที่ทำกิจกรรมก็ไม่ได้บอกน้องตรงๆ ว่า มีการลงโทษ หรือยังไงต่อให้บอกมันก็ไม่ make sense คนที่ทำกิจกรรมนี้ ก็ทำโดยไม่รู้สึกผิด เพราะอ้างเสรีภาพแล้ว แม้จะมีการอ้างว่า ถ้าไม่เข้าร่วมก็จะไม่ได้รุ่นก็ตาม


@  เปรียบเทียบต่อ ระหว่าง "จุฬา-ธรรมศาสตร์" ที่ไหนอยู่ยากกว่ากันหากคุณไม่เข้าโต๊ะ/รับน้อง/ห้องเชียร์

เข้าหรือไม่เข้ากิจกรรมรับน้องจุฬาฯจะอยู่ยากกว่า จะโดนเยอะกว่าหน่อย แต่ใน มธ. มีตัวเลือกมากกว่า คือ ถึงไม่เข้าคุณก็อยู่ได้ แรงเสียดทานจากในคณะน้อย และมหาวิทยาลัยก็ไม่สนับสนุนกิจกรรมลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักศึกษา มธ. จะอ้างถึงเสรีภาพ สิทธิ และเสมอภาค แต่ก็มีการผลิตซ้้ำความรุนแรงเชิงอำนาจที่ต้องการให้มี "รุ่นน้อง" จึงเหมือนกับว่า มธ.เองไม่มีเสรีภาพทุกตาตาางนิ้ว

ทุกวันนี้ กลายเป็นว่า นักศึกษามธ. กินบุญเก่า บางคนอ้างหลัก 6 ประการของคณะราษฎร์ แต่กลับใช้วิธีการที่ย้อนแย้งในตัวเองด้วยระบบโซตัส โดยเฉพาะในสายสังคมมักมีข้ออ้างเรื่องเสรีภาพเยอะกว่า และกลายเป็นวาทกรรมไปแล้ว

 
@ คนที่ออกมา "ตั้งคำถาม" ต่อระบบโซตัส/การรับน้อง ตอนนี้มีเยอะขึ้นไหม

คนที่คิดแบบนี้เยอะขึ้นนะ เหมือนเราไปทำให้เค้าเริ่มตั้งคำถาม มีการเปลี่ยนแปลง คนที่อยู่ในระบบโซตัสเองก็เริ่มตั้งคำถาม เช่น พี่เชียร์ พี่วินัย แต่ที่เยอะมากนั้น ก็อาจเป็นแค่ในพวก แอคติวิสต์ หรือนักศึกษาที่ทำกิจกรรม

นอกจากนั้น มธ. ตอนนี้ก็ไม่ใช่ที่ซึ่งคนจะมาคาดหวังได้เหมือนแต่ก่อน เพราะนักศึกษาที่นี่ยังกินบุญเก่า และยังมีจริตของคนชั้นกลางอยู่มาก คือ อยู่ไปวันๆ มากกว่า ซึ่งก็ถือว่ามีจำนวนมาก

 
@ ธรรมศาสตร์ มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

เสรีภาพทุกตารางนิ้ว ที่พูดมา ตอแหลทั้งนั้น เพราะ 2 เทอมที่ผ่านมา ได้เชิญชวนให้ ไม่ต้องใส่ชุดนักศึกษาเข้าสอบ แต่ตามกฎระเบียบก็ยังบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาเข้าสอบ จึงตั้งคำถามว่า เรามีเสรีภาพหรือไม่ แต่มีอาจารย์บางท่าน เช่น อจ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เห็นด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องบังคับให้นักศึกษาแต่งชุดนักศึกษาเข้าสอบ

เรื่องนี้ โยงกับรับน้อง โซตัส สิทธิเหนือร่างกาย ไม่งั้น มหาวิทยาลัยต่างประเทศ ไม่แต่งชุดนักศึกษา เกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาหรือแปลว่าไม่รักสถาบันหรือไม่

นอกจากนั้น ประเด็น มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แม้จะมีการสอบถาม แต่ไม่มีการรวบรวมความเห็นว่า มีการเห็นพ้องกันหรือไม่

@ คิดอย่างไร กรณีชื่อของมหาวิทยาลัยอาจมีการเปลี่ยนแปลง

ส่วนตัวอยากให้ใช้ชื่อ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะ ถ้าเปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อที่ตั้งเมื่อปี 2477 ก็อับอายรุ่นพี่ก่อนหน้านี้ เพราะเดิมธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเปิด เปรียบประดุจบ่อน้ำ แต่ตอนนี้ ถ้าไม่มีเงิน ก็เรียนไม่ได้ เป็นยุคสายลมแสงแดด ถ้าเราจะกลับไปใช้ชื่อเดิม ก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทุกวันนี้ สิ่งที่เป็นอยู่ไม่เหมือนเดิม มีโซตัส ให้แต่งกายถูกระเบียบ จากเดิม ไม่มีชุดนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเปลี่ยนจริงๆ ก็ขอว่า อย่าตัดคำว่า “วิชา” ออกไป เพราะ ชื่อเดิมครอบคลุมทุกศาสตร์ เรื่องจริยศาสตร์ (moral) ต้องเป็น “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง “ ไม่ใช่ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง”

.............................

 


ภาพนี้ "อั้ม เนโกะ" เธอบอกกับเราว่า ทำเพราะ "ประชด" เนื่องจากท่า "โหนรูปปั้นปรีดี" ทำแล้ว คนไม่พอใจ 

แต่เธอก็ย้ำว่า ที่บอกประชดเพราะ ไม่อยากให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเติมความเป็นเจ้าพ่อ

เพราะท้ายที่สุดแล้ว อาจารย์ปรีดี ก็คือ คนคนหนึ่ง และเราควรสืบสานความเป็นวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมากกว่า

.....................................................................................................................................


ชอบคอมเมนต์ครับ
อ่านคอมเมนต์กันด้วยนะครับ

ด้วยความหวังดี
ก่อนสรุปก็ตรวจสอบข้อมูลก่อนนะครับ ^_^

http://www.facebook.com/photo.php?fbid=464213060324647&set=a.129949563751000.33272.129774310435192&type=1&ref=nf


จักรพงษ์ จำรูญ admin เงิบเลยงานนี้


.....................................................................................................................................




ผมเชื่อว่า โชคชะตาคนเรา ไม่ว่าจะโชคดีหรือโชคร้าย ตัวเราเองที่สามารถสร้างมันขึ้นมาได้ การที่เรารู้จักพัฒนาสิ่งต่างๆในชีวิต เรียนรู้ที่จะก้าวหน้าต่อไปใช้ความผิดพลาดให้เป็นบทเรียน บางที สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างความ"โชคดี"ให้กับชีวิตคุณได้ และคนที่ทำได้เช่นนี้ ผมเชื่อว่าพวกเค้าจะรู้จักคุณค่าและรู้จักใช้ความโชคดีเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแน่นอน

...............................................................................................................................

พลังงานไทย เพื่อคนไทย (จริงๆ) - ตอนที่ 6 ราคาเสมอภาคการนำเข้าและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป (Import and Export Parity Price)


ในที่นี้จะพูดถึงแต่ราคาหน้าโรงกลั่นที่ไม่รวมภาษี กองทุนและค่าการตลาดอะไรต่างๆทั้งหมด เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจอย่างมากมายกับราคาหน้าโรงกลั่นในราคาที่ขายในประเทศและราคาที่ส่งออกว่าทำไมไม่เท่ากัน ทำไมราคาส่งออกถึงถูกกว่าในประเทศ และถูกกว่าในประเทศทุกกรณีจริงหรือ? 

ซึ่งแน่นอนประเด็นนี้ย่อมต้องมีผู้เอาไปขยายผลให้ประชาชนเกิดความสับสน ว่าทำไมโรงกลั่นต้องขายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศแพงกว่าราคาที่ส่งออกไปต่างประเทศ แปลว่าโรงกลั่นขายให้คนไทยแพงกว่าต่างชาติ เป็นการเอาเปรียบคนไทยด้วยกัน ?!? 

ผมจึงเห็นว่าควรจะเขียนบทความเกี่ยวกับกลไกราคาเสมอภาคการนำเข้าและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชนครับ

ก่อนจะไปต่อกับบทความนี้ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทำไมราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นของประเทศต้องอ้างอิงตามราคาตลาดกลางฯของสิงคโปร์ (SIMEX) ที่เรียกว่า ราคา Mean of Platts Singapore (MOPS) ผมได้อธิบายไปแล้วว่า ในบทความตอนที่ 5 



++ ราคาเสมอภาคการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย หรือ Import Parity Price (IPP) ++

ราคาอ้างอิงตลาดกลางฯสิงคโปร์ (MOPS) ที่เราใช้อยู่นี้เราเรียกว่า FOB (Free On Board) คือราคา ณ ตลาดซื้อขาย ที่ทำการปล่อยสินค้าที่ท่าเรือของประเทศต้นทางหรือสิงคโปร์  (ประเทศไทยจะใช้ราคา FOB เฉลี่ย 3 วัน มาคิดราคาหน้าโรงกลั่น)

เวลาเรากำหนดเพดานราคาผลผลิตสินค้าในประเทศ เพื่อแข่งขันกับ ต้นทุนนำเข้า จากตลาดกลางของภูมิภาคที่ถูกที่สุดก็คือ ราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์บวกค่า ต้นทุนการดำเนินการ ค่าประกัน ค่าขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (เรียกว่า CIF หรือ Cost Insurance Freight) ดังนั้นสมการจะเป็น


ราคาที่หน้าโรงกลั่นประเทศไทย (CIF) = FOB + ค่าประกัน+ค่าขนส่ง+ค่าใช้จ่ายอื่นๆ >>> เรียกว่า Import Parity Price (IPP) 


"แล้วทำไมในเมื่อเรากลั่นเองได้ทำไมต้องรวมพวกค่าประกัน ค่าขนส่ง ฯลฯ ไปด้วยล่ะ ไม่คิดเท่ากับราคา FOB ไปเลย ???"


เป็นคำถามที่ทุกคนถามแน่นอนเมื่อเจอสูตรราคาแบบนี้ แม้แต่ผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐศาสตร์บางคนยังตั้งคำถามนี้เลย ที่ต้องรวมค่า ค่าประกัน ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไปด้วย เพราะ ต้นทุนน้ำมันดิบที่เราต้องนำเข้ากว่า 85% ของปริมาณการกลั่นทังหมด ก็มีค่า ค่าประกัน ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ แฝงมาแล้ว ทำให้ต้นทุนน้ำมันดิบที่เอามากลั่นนั้นมีราคานำเข้าไทย แพงกว่า ราคานำเข้าสิงคโปร์ (ขนน้ำมันดิบมาไทย แพงกว่า ขนน้ำมันดิบมาสิงคโปร์เพราะไกลกว่า อย่าลืมว่าเรายังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่) ดังนั้นคนที่บอกว่า ค่าประกัน ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายต่างๆเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเป็นแค่การสมมติ เป็นแค่ค่าใช้จ่ายเทียม ถือว่าเข้าใจผิด 


รูปที่ 1: แผนที่แสดงการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางไปประเทศสิงคโปร์และประเทศไทย


นอกจากนี้ Import Parity Price คือเพดานราคาที่จะขายได้ ถ้าตั้งราคาภายในประเทศสูงกว่า IPP นี้ จะไม่สามารถแข่งขันกับราคานำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์จริงๆที่จะมีราคาเท่ากับ IPP ได้ 


สรุปอีกครั้ง >>> Import Parity Price (IPP) = FOB (ราคาสิงคโปร์) + ค่าประกัน ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ



ดังนั้น การมีกลไกราคาของ Import Parity Price กลับทำให้โรงกลั่นในประเทศไทย ไม่สามารถจะตั้งราคาได้ตามอำเภอใจและขายจนได้กำไรมากเกินควร ถ้าใช้วิธีการตั้งราคาแบบ Cost Plus Basis คือ เอาราคาน้ำมันดิบ (Crude) ไปบวกต้นทุนที่แท้จริงของโรงกลั่นเลย หรือกำหนดให้ค่าการกลั่นคงที่ (Fixed Refining Margin) จะทำให้ในสภาวะปกตินี้จะได้ราคาแพงกว่า Import Parity Price (IPP) เพราะต้นทุนการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศไทยนั้นสูงกว่าโรงกลั่นในสิงคโปร์ รวมถึงทำให้โรงกลั่นต่างๆในประเทศไทยที่มีกำลังการกลั่นต่ำกว่าและต้นทุนสูงกว่าโรงกลั่นอื่นๆเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างโรงกลั่นในประเทศกันเอง (แต่ถ้าในบางช่วงเวลาที่ราคาตลาดฯสิงคโปร์ผันผวนและขึ้นสูงผิดปกติ เช่นโรงกลั่นบางแห่งเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ Supply ขาดตลาด จะทำให้ราคาส่งออกที่อ้างอิงราคาตลาดฯสิงคโปร์ สูงกว่า ราคาขายในประเทศที่ใช้ระบบ Cost Plus Basis ส่งผลทำให้โรงกลั่นส่งออกนำ้มันออกนอกประเทศแทน ทำให้ประเทศไทยขาดแคลนน้ำมัน)

สรุปเหตุผลต้นทุนการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศไทยนั้นสูงกว่าโรงกลั่นในสิงคโปร์ ที่กล่าวไว่้ในบทความตอนที่ 5 อีกครั้งดังนี้

1. ต้นทุนขนส่งการนำเข้าน้ำมันดิบสูงกว่า เพราะประเทศไทยอยู่ห่างจากแหล่งน้ำมันดิบตะวันออกกลางไกลกว่าประเทศสิงคโปร์ รวมถึงประเทศสิงคโปร์มีการนำเข้าน้ำมันดิบเป็นจำนวนมากกว่าประเทศไทยที่อาจจะได้ส่วนลดเล็กน้อย (เหมือนในกรณีสั่งของทีเยอะๆ ไม่ว่าสินค้าอะไร เราก็มักได้ส่วนลด) และสิงคโปร์ก็เป็นเมืองท่า มีระบบการขนส่งและท่าเรือขนาดใหญ่และครบวงจร ทำให้ต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยของประเทศสิงคโปร์มีต้นทุนต่ำกว่าของประเทศไทย
2. ต้นทุนการกลั่นต่อหน่วยของประเทศไทยสูงกว่า เพราะกำลังการกลั่นของประเทศไทยมีขนาดน้อยกว่า (Economies of Scale)
3. ต้นทุนการผลิตน้ำมันสูงกว่า เพราะโรงกลั่นในประเทศไทยผลิตน้ำมันคุณภาพสูงกว่าหรือยูโร 4-5 เพื่อมีความสามารถในการแข่งขันกับการนำเข้าน้ำมันจากโรงกลั่นสิงคโปร์

สรุป กลไกราคา Import Parity Price นั้นทำให้โรงกลั่นในประเทศไทยทุกโรงจำเป็นต้องแข่งขันกับโรงกลั่นในสิงคโปร์รวมถึงแข่งขันกันเองในประเทศไทยในเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพการกลั่นเพื่อลดต้นทุนการผลิต มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดการนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์เข้ามาแทนที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อธุรกิจโรงกลั่นและความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ รวมถึงมีผลต่อการจัดเก็บภาษีเงินได้ของรัฐจากกำไรของโรงกลั่นที่ลดลง (เพราะต้องไปจ่ายให้โรงกลั่นของสิงคโปร์แทนในน้ำมันที่นำเข้ามา คนละส่วนกับภาษีสรรพสามิตนะครับ)





++ ราคาเสมอภาคการส่งออกจากประเทศไทย หรือ Export Parity Price (EPP หรือ XPP) ++


ในปัจจุบัน ประเทศไทยเราเองมีความสามารถในการกลั่นเกินความต้องการของประเทศ ก็ต้องเอาน้ำมันส่วนเกินเนี่ย ส่งออกไปขายต่างประเทศ แต่ทีนี้การที่จะไปขายต่างประเทศมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆนะครับ เพราะต่างประเทศมีเจ้าใหญ่อย่างสิงคโปร์คุมตลาดอยู่ ดังนั้นการส่งออก ก็ต้องไปแข่งขันกับการส่งออกของโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์เช่นเดียวกัน (เหมือนการขายในประเทศ ก็ต้องแข่งขันกับการนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์เช่นเดียวกัน) ***นี่ถ้าไม่มีสิงคโปร์เนี่ยนะ ชีวิตคงง่ายกว่านี้ :D*** 


ตารางที่ 1: ตารางการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทยในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2555 จากกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน



ตัวอย่างที่ 1 ส่งออกกลับไปประเทศสิงคโปร์


รูปที่ 2: แสดงเส้นทางการนำเข้า(สมมติ) และการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูประหว่างประเทศไทยและสิงคโปร์

ตารางที่ 2: ตารางแสดงโครงสร้างราคา IPP และ XPP ระหว่างไทยและสิงคโปร์

การที่เราจะสามารถแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ เราก็ต้องขายในราคาที่ไม่สูงกว่าราคาส่งออกของโรงกลั่นสิงคโปร์เช่นกัน ทีนี้ราคาเสมอภาคการส่งออกที่ต่ำที่สุด หมายถึง การที่เราส่งออกสินค้าของประเทศเราไปที่ตลาดใหญ่แล้วทำให้ราคาไม่สูงกว่าราคา ณ ตลาดกลางนั้น โครงสร้างราคาจะเป็นดังนี้


Export Parity Price (XPP) ไปสิงคโปร์ = FOB (ราคาสิงคโปร์) - ค่าประกัน ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายต่างๆ

  
ซึ่งทำให้ราคาเมื่อส่งออกจากประเทศไทย ไปประเทศสิงคโปร์แล้ว พอรวมค่าประกัน ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็จะได้ราคาสุดท้ายเท่ากับราคาที่ประเทศสิงคโปร์พอดี ดังต่อไปนี้

XPP (ราคา ณ ประเทศไทย ส่งออกไปสิงคโปร์) + ค่าประกัน ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆ = FOB (ราคาสิงคโปร์)

หมายเหตุ: ทั้งหมดเป็นการเปรียบเทียบโดยใช้ราคาสมมติ


กรณีส่งออกไปขายในประเทศอื่นๆ

แต่ทีนี้ ราคา XPP นั้นจะเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางที่เราจะส่งออกไป โดยที่ 

XPP + ค่าประกัน ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆจากประเทศไทย ไปประเทศปลายทาง รวมแล้ว ต้องไม่สูงไปกว่า ราคาที่ส่งออกมาจากประเทศสิงคโปร์ หรือ FOB (ราคาสิงคโปร์) + ค่าประกัน ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆ จากประเทศสิงคโปร์ ดังตัวอย่างดังต่อไปนี้



ตัวอย่างที่ 2 ส่งออกไปประเทศกัมพูชา

จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งของประเทศไทย จะได้เปรียบกว่าประเทศสิงคโปร์ตรงที่ใกล้ประเทศกัมพูชามากกว่า ทำให้ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆต่ำกว่า จึงสามารถตั้งราคาส่งออกไปกัมพูชา (XPP ไปกัมพูชา) ได้สูงกว่า ราคาตลาดกลางสิงคโปร์ (FOB สิงคโปร์) ดังตารางข้างล่างนี้

รูปที่ 3: แสดงเส้นทางการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศกัมพูชาจากประเทศไทยและสิงคโปร์

ตารางที่ 3: ตารางแสดงโครงสร้างราคาส่งออก XPP จากไทยไปกัมพูชา และราคานำเข้า IPP จากสิงคโปร์ไปกัมพูชา


IPP กัมพูชา หรือ ราคาเสมอภาคนำเข้านำมันจากประเทศสิงคโปร์ เข้าไปในประเทศกัมพูชา
คือ FOB (สิงคโปร์์) + ค่าประกัน + ค่าขนส่ง + ค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากประเทศสิงคโปร์

ซึ่งจะเทียบเท่ากับ
XPP (ราคาส่งออกจากประเทศไทยไปกัมพูชา) + ค่าประกัน + ค่าขนส่ง + ค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากประเทศไทย

แปลว่า ถ้า ค่าประกัน + ค่าขนส่ง + ค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากประเทศไทย ต่ำกว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่มาจากสิงคโปร์ ทำให้โรงกลั่นในไทยสามารถตั้งราคา XPP ไทยไปกัมพูชา (จากตัวอย่าง $120.8) ได้สูงกว่า FOB สิงคโปร์ (จากตัวอย่าง $120) ที่ทำให้ ราคาที่รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วไม่สูงกว่าราคาการนำเข้าจากสิงคโปร์ไปกัมพูชา

หมายเหตุ: ทั้งหมดเป็นการเปรียบเทียบโดยใช้ราคาสมมติ



ตัวอย่างที่ 3 ส่งออกไปประเทศแอฟริกาใต้

รูปที่ 4: แสดงเส้นทางการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศไทยผ่านประเทศสิงคโปร์ ไปยังประเทศแอฟริกาใต้

ตารางที่ 4: ตารางแสดงโครงสร้างราคาส่งออก XPP จากไทยไปแอฟริกาใต้ และราคานำเข้า IPP จากสิงคโปร์ไปแอฟริกาใต้


อย่างกรณีส่งออกไปประเทศแอฟริกาใต้นั้น ยังไงเราก็ต้องขนส่งผ่านประเทศสิงคโปร์ ราคาส่งออกที่เราจะแข่งขันได้ก็ต้องเป็นราคา XPP ที่ต่ำที่สุดเปรียบเสมือนเราส่งไปประเทศสิงคโปร์ก่อนแล้วส่งต่อไปประเทศแอฟริกา ทำให้ได้ราคา XPP เทียบเท่ากับการส่งออกไปประเทศสิงคโปร์

หมายเหตุ: ทั้งหมดเป็นการเปรียบเทียบโดยใช้ราคาสมมติ




++ การใช้ราคาเสมอภาคการนำเข้าและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปกับโรงกลั่นในประเทศไทย ++

จะเห็นได้ว่า ในสภาวะปกติ ราคาส่งออกจะได้ราคาไม่ค่อยดี ทางโรงกลั่นย่อมไม่มีแรงจูงใจอยากจะส่งออกก่อน จะพยายามขายน้ำมันในประเทศให้มากที่สุด โดยจะมีการให้ส่วนลดราคาให้ต่ำกว่า IPP ในบางช่วงเวลา ก่อนที่เหลือส่งออก 

แต่เอ... แปลว่าเอาเปรียบคนไทยใช่มั้ยที่ขายราคาแพงกว่า??? อย่างที่ผมอธิบายไว้ข้างต้น มันเป็นกลไกของตลาดเพื่อช่วยรักษาความมั่นคงทางพลังงานในประเทศไทย (Energy Security)ทำให้ประเทศไทยและคนไทยได้ใช้น้ำมันก่อน ทำให้ประเทศไทยและคนไทยไม่ขาดแคลนพลังงาน ถ้าสมมติราคาส่งออกได้ราคาดีกว่า จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้โรงกลั่นอยากขายน้ำมันให้ต่างประเทศก่อนขายให้คนไทย น้ำมันจะไหลออกนอกประเทศ จะทำให้ประเทศไทยขาดแคลนน้ำมัน 

ถ้าสมมติ ให้โรงกลั่นที่ ปตท. ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 3 โรง (ไทยออยล์, IRPC และ PTTGC) ที่มีกำลังการกลั่น 58% ของกำลังการกลั่นทั้งหมดในประเทศไทย ยอมขายถูกๆให้ถูกกว่าราคาส่งออก (XPP) แต่ในส่วนของกำลังการกลั่นที่เหลือกว่า 42% ที่ ปตท.ไม่ได้ถือหุ้นใหญ่หรือไม่มีหุ้นเลย (เช่น บางจาก, SPRC และ ESSO) ซึ่ง ปตท.นั้นไม่มีสิทธิ์ไปบังคับให้โรงกลั่นเหล่านั้นขายให้คนไทยในราคาต่ำกว่า XPP ก็ต้องส่งออกไปขายต่างประเทศอยู่ดี แล้ว โรงกลั่นที่ ปตท.ถือหุ้นใหญ่อยู่ 3 โรงนั้น จะไม่สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นที่เหลืออีก 3 โรงได้ (ไม่รวม โรงกลั่นระยองเพียวริฟายเออร์ หรือ RPC) เพราะกำไรน้อยกว่า ทำให้ไม่มีเงินลงทุนไปปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพ เพื่อลดต้นทุนไปแข่งขันกับโรงกลั่นอื่นๆได้

ตารางที่ 5: ข้อมูลกำลังการกลั่นและผู้ถือหุ้นของโรงกลั่นในประเทศไทย รวมถึงส่วนแบ่งการตลาดของ ปตท.

แต่ก่อนโรงกลั่นในประเทศมีกำลังการกลั่นน้อยกว่าการบริโภคภายในประเทศ รัฐก็จะควบคุมให้ราคาหน้าโรงกลั่นนั้นเท่ากับ IPP เลยเพื่อเปิดทางให้มีการนำเข้าจากสิงคโปร์ ถ้าตั้งต่ำกว่า IPP จะทำให้ ไม่มีใครอยากนำเข้ามาขายแข่ง เพราะจะทำให้ขายไม่ออก ถ้าไปขายเท่าราคาในประเทศก็จะขาดทุน ทำให้ประเทศไทยขาดแคลนน้ำมัน

แต่ปัจจุบัน รัฐไม่ได้ควบคุมราคาหน้าโรงกลั่นและปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของราคาในภูมิภาค เพราะโรงกลั่นในประเทศไทย มีกำลังการกลั่นมากกว่าการบริโภคภายในประเทศราวๆ 1-2 แสนบาร์เรล ก็จะมีส่วนนึงที่ส่งออก สาเหตุที่โรงกลั่นต้องกลั่นให้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุนการกลั่นต่อหน่วย เหมือนสั่งทำหนังสือ ถ้าสั่งทำ 1,000 เล่ม ต้นทุนต่อเล่ม ย่อมถูกกว่า สั่งทำแค่ 100 เล่ม และจะต้องกลั่นให้น้ำมันทุกๆชนิดเพียงพอต่อความต้องการในประเทศด้วย แต่จะมากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับความสมดุลระหว่างการขายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศด้วย เพราะถ้ากลั่นเหลือส่งออกมาเกินไปจะทำให้ขายได้ราคาไม่ดี ดังนั้นในภาวะปัจจุบัน ทางโรงกลั่นในประเทศก็ย่อมแข่งขันกันขายในประเทศให้ได้มากที่สุดก่อนการส่งออก และควบคุมปริมาณการกลั่นให้เหมาะสม

ในบางวันที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงและมีการกลั่นล้นมากเกินไปก็อาจจะมีการให้ ส่วนลดราคาในประเทศ ให้ต่ำกว่า IPP จนใกล้เคียง XPP เฉลี่ย หรือ FOB (ซึ่งอยู่ระหว่าง IPP กับ XPP ส่งออกไปสิงคโปร์) เพื่อขายให้คนไทยมากที่สุดก่อนการส่งออก และถ้ามีเหลือส่งออกมากจนเกินไปก็จะมีผลต่อราคาน้ำมันตลาดฯกลางสิงคโปร์เช่นเดียวกัน ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในภูมิภาคหรือราคาน้ำมันสิงคโปร์ลดต่ำลง เช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าการที่ปล่อยให้เป็นการค้าเสรีและมีการแข่งขันกันนั้น จะเป็นผลดีต่อคนไทยซะด้วยซ้ำ เพราะเมื่อมีการแข่งขันในระดับสูงและกำลังการกลั่นในประเทศที่มีมากกว่าความต้องการ ก็มีการให้ส่วนลดราคาอยู่ระหว่าง IPP กับ XPP และถึงขั้นมีการส่งออกในปริมาณมากพอที่จะทำให้ราคาน้ำมันตลาดฯสิงคโปร์ลดลง ก็จะทำให้การกำหนดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นและผู้ค้าส่งไม่สามารถตั้งราคาสูงได้

เหมือนกับเรามีสินค้าจำนวนนึงมาขายในร้านให้ลูกค้าประจำ แต่เราขายไม่หมด ไม่มีที่ให้สต๊อกแล้ว ร้านก็จะปิดแล้ว เราก็ต้องย่อมลดราคาลงแล้วไปเร่ขายนอกร้านในราคาที่สามารถแข่งขันกับตลาดภายนอกได้เพื่อจะได้ขายให้มันหมดไป ได้เงินบางส่วนกลับมา ถ้าวันหลังรู้ว่าที่ทำออกมาคงขายไม่หมดก็ลดราคาขายลงให้ลูกค้าประจำ เป็นการจูงใจให้ลูกค้าประจำมาซื้อสินค้าเยอะๆแทน



++ ความไม่สมดุลของน้ำมันในประเทศ ถ้าไม่ใช้หลักความเสมอภาคการนำเข้า (Import Parity Price) ++

ถ้าเราไม่ใช้ราคาตามกลไกของตลาดในภูมิภาคด้วย Import Parity Price เป็นเกณฑ์เป็นเพดานของราคาขายในประเทศแล้วบังคับใช้ราคาเท่ากับ FOB ก็จะเกิดความไม่สมดุลของน้ำมันในประเทศดังต่อไปนี้

1. ถ้าตั้งราคาขายในประเทศเท่าราคาอ้างอิงตลาดกลางฯสิงคโปร์โดยไม่บวก ค่าประกัน ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะทำให้โรงกลั่นและผู้ค้าส่งน้ำมัน ไม่มีความสนใจที่จะให้ คนไทยเป็นผู้บริโภครายแรก ก็อาจจะส่งน้ำมันไปขายให้ใครก็ได้ในภูมิภาคนี้ที่ให้ ค่าประกัน ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่ม (หรือได้ราคา XPP มากกว่า FOB) ทำให้น้ำมันในประเทศขาดแคลน และคนไทยจะไม่ได้ใช้น้ำมันทุกคน และทำให้ราคาขายปลีกในประเทศกลับเพิ่มสูงขึ้น ใครสู้ราคาก็ได้ซื้อไป

2. โรงกลั่นจะไม่มีแรงจูงใจในการลงทุน เพราะต้นทุนก็แพงกว่า แต่กลับขายได้ราคาเท่ากับโรงกลั่นในสิงคโปร์ที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งมีความเสี่ยงในการขาดทุนสูง ถ้าเป็นแบบนั้นก็ตั้งบริษัทขนน้ำมันสำเร็จรูปแทนดีกว่าการลงทุนสร้างโรงกลั่นที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท

3. ทำให้โรงกลั่นกำไรน้อยมากอาจจะถึงขั้นขาดทุน ทำให้ไม่มีเงินทุนไปปรับปรุงโรงกลั่นให้มีประสิทธิภาพและลงทุนขยายกำลังการกลั่นเพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้นในอนาคต อาจถึงขั้นปิดกิจการเพราะแข่งขันต้นทุนกับสิงคโปร์ไม่ไหว (โรงกลั่นในสิงคโปร์มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำที่สุด ดังที่กล่าวไว้แล้ว)

4. โรงกลั่นเจ๊งปิดกิจการ กำลังการกลั่นไม่พอ ประเทศไทยก็ขาดแคลนน้ำมัน  รัฐจะต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในสิงคโปร์มาแทน และรัฐก็ขาดรายได้จากเงินได้ของโรงกลั่นที่ควรดำเนินการในประเทศรวมถึงภาษีเงินได้ของแรงงานในไทยและเงินหมุนเวียนในประเทศ เพราะรายได้ส่วนที่ควรเป็นภาษีของประเทศไทยตรงนี้กลับจ่ายให้รัฐบาลสิงคโปร์ที่รวมอยู่ในค่าน้ำมันแทน ทำให้รัฐบาลไทยต้องเรียกภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นอีกเพื่อชดเชยรายได้รัฐที่สูญเสียไป ทีนี้ คนไทยจะได้ใช้น้ำมันแพงยิ่งกว่าเดิม

5. ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศประสบปัญหาต้นทุนของเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นจากเหตุผลข้อที่ 4 จะทำให้ราคาขายสินค้าเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม ค่าครองชีพสูงขึ้น

6. ทำให้ประเทศไทยไม่มีความมั่นคงทางพลังงาน ถ้ามีปัญหาในต่างประเทศส่งผลทำให้ไม่สามารถส่งน้ำมันมาไทยได้ เราจะไม่มีพลังงานใช้ทันที 100%.


ในบทความนี้เป็นหลักวิเคราะห์ในเชิงทฤษฎี ซึ่งเป็นวิธีการคิดราคาซื้อขายน้ำมัน รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) อื่นๆ ตามหลักสากลครับ อย่างไรก็ตาม การที่จะบอกราคาที่แตกต่างกันระหว่างราคาขายในประเทศและราคาส่งออกที่แท้จริงเป็นตัวเลขที่แน่นอนนั้น ย่อมทำได้ยาก เพราะราคาจะ swing ขึ้นลงทุกๆวันตาม demand และ supply ของแต่ละวัน รวมถึงวิธีการขนส่งและรายละเอียดในสัญญาการซื้อขายที่ตกลงกันในแต่ละประเทศด้วยซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวของแต่ละบริษัท สุดท้ายนี้ผมคิดว่าราคาส่งออกจะน้อยกว่าราคาในประเทศลิตรละ 0-1.5 บาท เท่านั้น (ขึ้นอยู่กับประเทศปลายทาง) ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาดทำให้มีความมั่นคงทางพลังงานในประเทศไทย และส่วนต่างราคาขายในประเทศกับราคาส่งออกนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากจนมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับภาษีและกองทุนน้ำมันที่เรียกเก็บ ....


เรื่องพลังงาน ต้องใช้ความรู้ ไม่ใช่ความรู้สึกสิริวัต12 พ.ค. 2556


เอกสารอ้างอิง
หลักการคิดราคาน้ำมันในประเทศไทย จาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ข้อมูลการกลั่น การผลิต การนำเข้า และการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป จาก กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน
ข้อมูลการขนส่งน้ำมันทั่วไปจาก PetroStrategies Inc.http://www.petrostrategies.org/Learning_Center/oil_transportation.htmหลักการวิเคราะห์ Import/Export Parity Price ของ USAIDhttp://pdf.usaid.gov/pdf_docs/PNADL964.pdfหลักการ Import Parity Price ของ World Food Programme องค์การสหประชาชาติhttp://learning.vam.wfp.org/documents/tools/base_course/eng/ct/price%20basic/m4/s1/3/4.1_PPT_EN_Import_Parity_Price.ppt 

..................................................................................................................


........................................................................................................................




“ปัญหาจำนวนมากในโลกจะหายไป
ถ้าเราพูดคุยกัน แทนที่จะพูดถึงกัน”

ถ้าแกนนำไม่เริ่มคุยกันก็ไม่ต้องรอ
แฟนทั้งสองข้างจะเริ่มต้นคุยกันก่อนดีไหม
แค่คุณเริ่มต้นด้วยความอยากเข้าใจเขา
ไม่ใช่อยากบอกว่าเขาคิดผิดตรงไหน


รูปจาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=536528436415135

.........................................................................................................................

จาก Status : มิตรสหายท่านหนึ่ง

"ตัวอย่างนี้อาจจะดูสุดโต่ง แต่โดยพื้นฐานแล้ว สถานการณ์คล้ายๆ กันมีมากมายในหมู่บ้านที่ไม่ใช่เขตกันดารในประเทศไทย (แม้กระทั่งอีก รร ที่ถูกอ้างถึงในข่าวนี้ข่าวก็บอกว่ามี นร 40 คน) ซึ่งสาเหตุพื้นฐานมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงมาก การคมนาคมที่สะดวกขึ้น การที่พ่อแม่ให้ความสนใจกับการศึกษาของลูกและลงทุนส่งลูกไป รร ที่คิดว่ามีคุณภาพมากกว่า
นอกจากนี้ การคงอยู่ของ รร เล็กๆ ส่วนหนึ่งก็เกิดจาก ปห การเมืองในทุกระดับ ท่าน อ. วรากรณ์ สามโกเศศ (ซึ่งมีส่วนชักนำให้ผมหันเหมาเรียนโทเศรษฐศาสตร์ที่ มธ และท่านไปเคยเป็นรัฐมนตรีศึกษา) ก็เคยเล่า ตย หนึ่งว่าผู้บริหารท้องถิ่นปฏเสะที่ยุบรวม รร กับอีก รร ที่อยู่คนละฟากถนน โดยบอกว่า "ถ้าเด็กข้ามถนนไปแล้วถูกรถชนจะมีใครรับผิดชอบ" ทั้งนี้ อ. ได้เล่าว่านั่งคุยอยู่ที่นั่นประมาณ 1 ชั่วโมง มีรถยนต์วิ่งผ่านมารวม 1 คัน"

มิตรสหายท่านหนึ่ง
.....................................................................................................................


...............................................................................................................................


เตือนตัวเองให้ระวังอย่าเป็นอย่างนั้น
ไม่รู้จะทำได้มั๊ย!




sorry, automatic updates not available ):

...........................................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น