วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

07/05/2556




เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ศาสนาในความหมายที่ใช้กัน


ปุจฉา- วิสัชนาธรรม โดยท่านอาจารย์โกเอนกา

ถาม : แล้วอะไรเป็นปัจจัยไปสู่การหลุดพ้นล่ะครับ
ท่านอาจารย์ตอบ : ปัจจัยสำคัญคือ เป็นวิธีปฏิบัติง่ายๆ ซึ่งไม่มีการควบคุมทางกายเหมือนเช่นการฝึกพลังลมปราณ ต้องไม่มีอะไรอย่างนั้น เพียงแต่สังเกตุลมหายใจแล้วสังเกตุความรู้สึกที่ร่างกาย ซึ่งไม่ใช่เป็นการทรมานตนเอง และเป็นวิธีการที่ให้ผลชัดเจน น่าอัศจรรย์ นี่เป็นสาเหตุให้การปฏิบัติเผยแพร่ออกไป
อีกสิ่งที่ข้าพเจ้าทำคือ ข้าพเจ้าหยุดเรียกคำสอนของพระผู้มีพระภาคว่า “ พุทธศาสนา “ และไม่เรียกผู้ปฏิบัติตามคำสอนว่า “ชาวพุทธ” เพราะพุทธองค์ทรงสอนธรรมะ ซึ่งไม่ใช่ธรรมะเฉพาะของพระองค์ และสำหรับผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนก็ไม่ใช่ชาวพุทธ แต่คือผู้ประพฤติธรรม ธรรมมิโก ธรรมจารี เมื่อเป็นธรรมะแล้วก็ย่อมเป็นธรรมะของทุกคน
ในสมัยพุทธกาลก็เช่นกัน คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้แผ่ขยายออกไปก็เพราะความที่ไม่ใช่ลัทธินิกาย แต่เป็นสากลที่ทุกคน ใครก็ได้สามารถที่จะยอมรับได้ ซึ่งผู้คนให้ก็ยอมรับ ข้าพเจ้าก็ได้ใช้วิธีการเดียวกัน นั่นคือจะต้องเป็นสากล ถ้าข้าพเจ้าพูดถึงการมีชีวิตอยู่อย่างมีศีล ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ ชีวิตที่มีศีล ใช่แล้ว ชีวิตที่มีศีล การควบคุมจิตใจตนเอง ใช่แล้ว การควบคุมจิตใจตัวเอง ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพียงแค่นี้เท่านั้น ไม่มีเรื่องของพิธีกรรม ประเพณี กฏเกณท์ทางศาสนา หรือการบูชาใดๆ ไม่มีอะไรอย่างนั้นเลย แต่เรียบง่ายเป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นสากลอย่างยิ่ง นี่จึงเป็นเหตุให้คำสอนแผ่ขยายออกไป
มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้นำของศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาสำคัญๆได้เข้ามาปฏิบัติวิปัสสนาและสานุศิษย์ของท่านเหล่านั้นก็กำลังพากันมาปฏิบัติวิปัสสนา เพราะความที่มันเป็นสากล แต่ภ้าเป็นลัทธินิกายแล้ว พวกเขาก็จะพูดว่า “ โอ้มันเป็นลัทธิของท่าน มันเป็นนิกายของท่าน ” ก็จะไม่มีใครมาศึกษาพุทธศาสนา แต่ทุกคนจะมาศึกษาพระธรรม นี่คือความงดงามของคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนี่ก็เป็นเหตุให้คำสอนแพร่หลายในปัจจุบัน
เมื่อข้าพเจ้าบอกว่า “ ข้าพเจ้าไม่ได้เปลี่ยนให้ใครมาเป็นชาวพุทธ ” ผู้นำศาสนาพุทธบางท่านรู้สึกโกรธมากและรู้สึกขุ่นเคืองใจว่าข้าพเจ้ากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าหากไม่ได้สอนศาสนาพุทธ แล้วข้าพเจ้าสอนอะไร แต่ข้าพเจ้าก็ต้องไปอธิบายให้ท่านเหล่านั้นฟัง หลังจากได้รับคำอธิบายแล้ว ทุกคนรู้สึกพอใจ ไม่ติดใจอะไร ท่านจะเห็นว่ามีทุกๆศาสนารวมอยู่ในหนังสือเล่มนั้น


ข้อความจาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=460176947394585
รูปจาก http://www.events.dhamma.org/presskit/photos-en

.....................................................................................................................


ติดตามผลงานครับ ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้อยู่กรุงเทพฯก็เถอะ

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1367926877&grpid=03&catid=01&subcatid=0100
.............................................................................................................................

..............................................................................................................................


จาก Status : คุณใบตองแห้ง ประชาไท
ชอบเรื่องนี้มากเลยครับ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อธิบายแธตเชอร์น่าจะตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด (คือมีทั้งคนรักมากเกลียดมากเหมือนทักษิณ 55) ผมเองไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ตะหงิดๆ เวลาพวกฝ่ายซ้ายด่าแธตเชอร์ เรื่องทำลายสหภาพแรงงาน ทำให้คนตกงาน ผมว่ามันเป็นการมองด้านเดียว ยังไงเศรษฐกิจอังกฤษก็ต้องเปลี่ยนแปลง จากอุตสาหกรรมไปสู่การเงินและบริการ จะให้ทำเหมืองถ่านหินดักดานได้ไง แล้วจะให้สหภาพยิ่งใหญ่ชี้เป็นชี้ตายอยู่ได้ไง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็เป็นเรื่องจำเป็น

ในภาพรวมคือ เศรษฐกิจทุนนิยมอังกฤษใกล้หายนะ ต้องปรับตัว แล้วแธตเชอร์ก็เข้ามาเป็น “หญิงเหล็ก” ในจังหวะนั้นพอดี ถ้าไม่แกร่งอย่างแธตเชอร์ ก็อาจทำไม่สำเร็จ แต่ในความแกร่ง อีกด้านก็อาจโหด คือทุบสหภาพเลย “ช็อกเศรษฐกิจ” คนส่วนหนึ่งจึงโกรธแธตเชอร์มาก เพราะทำให้ตกงานและไม่มีงานทำอีกยาวนาน คนงานรุ่นเดิม คนงานเหมืองปรับตัวไม่ได้ แต่คนรุ่นใหม่ปรับตัวได้และได้ประโยชน์

การหวนไปมองเรื่องนี้มีประโยชน์ ในแง่ที่ว่า “เสรีนิยมใหม่” ไม่ใช่เลวร้ายไปเสียหมด อย่างที่ฝ่ายซ้าย (ทัศนะเก่าๆ) หรือ NGO มอง แน่นอนมันมีด้านที่โหดร้าย แต่นี่คือความจริงของโลกทุนนิยม (ซึ่งยังไม่มีระบบอะไรที่ดีกว่า) ซึ่งทุกคนต้องปรับตัว ก็เหมือนเมืองไทย แรงงานไร้ฝีมือ SME ที่หากินกับค่าแรงต่ำ ยังไงก็ต้องล้มหายตายจาก ชุมชนเกษตรกรรม ยังไงก็ต้องถูกทำลายใต้รางรถไฟความเร็วสูง สิ่งที่ NGO ผู้เป็นปากเสียงของคนด้อยโอกาส ต้องต่อสู้เรียกร้องคือให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงมันกระทบผู้คนให้น้อยที่สุด และมีมาตรการรองรับให้มากที่สุด แต่ไม่ใช่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น



รู้จักแธตเชอร์ รู้จักเสรีนิยมใหม่ ผ่านมุม พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์–วิโรจน์ อาลี


หลังมรณกรรมของ Margaret Thatcher เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2556 เรื่องราวของเธอก็ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสื่อต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทยเพราะ “ผู้หญิงเหล็ก” คนนี้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก ผลักดันนโยบาย ‘เสรีนิยมใหม่’ และแผ่ขยายลัทธิเสรีนิยมใหม่
ปลายเดือนเดียวกันนั้น The Reading room จัดเสวนา Thatcher Is Dead! Long Live Thatcherism! ทำความเข้าใจอิทธิพลและมรดกของอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในทศวรรษ 1970-1980 คนนี้ โดยร่วมสนทนากับ อ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อ.วิโรจน์ อาลี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ผ่านนโยบายต่างๆ ของแธตเชอร์ โดยเฉพาะเรื่องการกำเนิดและล่มสลายของระบบรัฐสวัสดิการซึ่งเกิดที่อังกฤษเป็นที่แรก
 


พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

เมื่อกล่าวถึงแธตเชอร์ก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงกระแสความคิดปรัชญาทางเศรษฐกิจการเมืองที่มีอิทธิพลต่อแธตเชอร์มาก่อน ก่อนที่เธอจะชนะการเลือกตั้ง ต้องผ่านการต่อสู้ทางความคิดโดยเฉพาะในแวดวงของปัญญาชนอังกฤษอย่างหนักและยาวนาน มันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่กระแสความคิดแบบแธตเชอร์จะถูกดึงขึ้นมา จนมีการปฏิรูปประเทศอังกฤษที่ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบันนี้ เหล่านี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ หากไม่มีแธตเชอร์ก็ย่อมมีคนอื่นทำในลักษณะเดียวกัน เพราะเป็นกระแสความคิดที่มาจากรัฐบาลที่มีการเลือกตั้งในยุโรปตะวันตก กระแสความคิดที่มีอิทธิพลในเวลานั้น เป็นของ ฟริดริช ฟอน ฮาเย็ค (Friedrich von Hayek)
การขึ้นมาของแธตเชอร์ เป็นผลมากจากความล้มเหลวของรัฐสวัสดิการอังกฤษ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปีค.ศ.1945 ในยุโรปสงครามยุติเมื่อเดือนพฤษภาคม อังกฤษในเวลานั้นเป็นรัฐบาลผสมแห่งชาติ เนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม พรรคการเมืองจึงร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสู้กับฝ่ายศัตรู เมื่อชนะสงครามผ่านไปสักพัก พรรคแรงงานที่อยู่ในรัฐบาลก็ถอนตัวทันที ทำให้รัฐบาลล้ม ต้องเลือกตั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม ในการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคแรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้านมาตลอด หันมาหาเสียงด้วยการชูนโยบายรัฐสวัสดิการว่ารัฐจะดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย มีระบบบริการสุขภาพแห่งชาติและการจ้างงานเต็มที่ เรียกได้ว่าจะดำเนินนโยบายเศรษฐศาสตร์แบบเคนเซียน (Keynesian) กระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลขาดดุลงบประมาณ เก็บภาษีเพื่อรัฐสวัสดิการ
ขณะที่ฝ่ายเชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) ฮีโร่สงคราม นำประเทศรบชนะฮิตเลอร์มา หาเสียงและโจมตีพรรคแรงงานว่าการนำรัฐสวัสดิการครบถ้วนเข้ามาจะนำไปสู่ระบอบรัฐเผด็จการ เพราะรัฐดูแลทุกสิ่งจนสุดท้ายอาจเข้าแทรกแซงสิทธิส่วนบุคคล ความคิดเช่นนี้เชอร์ชิลได้มาจากหนังสือ The Road to Serfdom ของฮาเย็ค แต่กระนั้นก็ตามพรรคแรงงานกลับชนะการเลือกตั้งอย่างไม่มีใครคาดคิด ได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล
เคลแมนท์ แอตต์ลี (Clemant Atlee) เข้ามาผลักดันรัฐวิสาหกิจ สร้างสวัสดิการแม่และเด็กเงินชดเชยบำเหน็จบำนาญคนชรา การสาธารณสุขแห่งชาติ สวัสดิการการศึกษา โอนกิจการอุตสาหกรรมหนักเป็นของรัฐ ไม่ใช่แค่สาธารณูปโภค แต่ยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมเหล็ก ถ่านหิน โทรศัพท์ โทรคมนาคม ขนส่งมวลชน พลังงาน ฯลฯ ปรับอัตราภาษีแบบก้าวหน้าเพื่อจุนเจือรัฐสวัสดิการ การกำหนดค่าจ้างงานก็ให้รัฐบาล สหภาพแรงงาน และนายจ้างมาประชุมกันเพื่อต่อรองการขึ้นค่าจ้างประจำปี เพื่อรับประกันว่าจะไม่มีคนงานประท้วงเพิ่มโดยรัฐมีหน้าที่อยู่ตรงกลาง  สหภาพแรงานของอังกฤษจึงเข้มแข็งมากในเวลานั้น และผ่านการต่อสู้มาจนมีประวัติยาวนานนับร้อยปีแล้ว จนรัฐบาลยอมรับการมีอยู่ของสหภาพ และเกิดเป็นพรรคแรงงาน
ยุคทองของรัฐสวัสดิการและการนัดหยุดงานในอังกฤษ
เมื่อเข้าสู่ยุค 1950-60 ก็เป็นช่วงยุคทองของรัฐสวัสดิการอังกฤษ เศรษฐกิจเติบโตดี รัฐบาลดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวเคนเซียนโดยตลอด แม้ว่าต่อมาพรรคแรงงานจะแพ้เลือกตั้ง มีพรรคอนุรักษ์นิยมขึ้นมาแทนก็ยังใช้นโยบายเดิม เพราะเป็นระบบที่คนอังกฤษต้องการ เศรษฐกิจยังเจริญเติบโตได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
แต่มาในยุค70 เกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันจากต่างชาติ อังกฤษเองก็เริ่มมีปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดเวลา อัตราการว่างงานต่ำยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจเริ่มโตช้า ในที่สุด คนก็เริ่มว่างงานมากขึ้น สวนทางกับแนวคิดของเคนเซียนที่ว่า เมื่อคนว่างงานเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะลดลง แต่กลับกลายเป็นว่า เงินเฟื้อก็เรื้อรัง คนว่างงานก็มาก รัฐวิสาหกิจก็ขาดทุนอย่างหนักเนื่องจากการขึ้นค่าจ้างแต่ละปีจะบวกอัตราเงินเฟ้อเพิ่มทุกๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมถ่านหินของรัฐที่มีอยู่เกือบ 200 แห่งล้วนแต่ขาดทุน ยิ่งราคาน้ำมันขึ้น ต้นทุนการผลิตก็เพิ่ม ทำให้ขาดทุนอย่างหนัก คนงานก็เรียกร้องเพิ่มค่าจ้าง รัฐบาลก็ต้องเข้ามาอุ้มตลอดเวลา ทั้งที่เศรษฐกิจตกต่ำทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง ในที่สุดวิกฤติเศรษฐกิจจากการขาดดุลงบประมาณอย่างหนักก็มาถึง ราคาสินค้าในประเทศขึ้นเร็ว ส่งออกได้น้อยลง เงินปอนด์อ่อนค่า ในที่สุดก็ต้องของให้ IMF ช่วย
นอกจากวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว  ยุค70 ยังเป็นยุคทองของการสไตรค์ (การนัดหยุดงาน) ของคนงานอังกฤษทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างเหมืองถ่านหิน คนขับรถเมล์ พยาบาล ฯลฯ  เพราะนายจ้างไม่อยากขึ้นค่าจ้าง ทำให้เกิดความขัดแย้ง นอกจากนี้ฐานภาษีในยุคนั้นยังแคบลงเรื่อยๆ คนเริ่มไม่อยากทำธุรกิจ เพราะรัฐเก็บภาษีมากจึงขาดแรงจูงใจ คนส่วนใหญ่เรียนจบแล้วก็อยากทำงานในรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ มากกว่าทำธุรกิจส่วนตัว จนเกิดวัฒนธรรมพึ่งพารัฐ ดูได้จากระบบช่วยเหลือคนว่างงานเป็นอัตราค่าจ้างรายได้ที่สูงมาก ทำให้คนไม่อยากทำงาน
พูดง่ายๆ ว่า Welfare State มันดูดี แต่มันแพง ต้องอาศัยโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งพอ
จุดเปลี่ยนทางการเมืองสำคัญที่ทำให้แธตเชอร์ขึ้นมาสู่อำนาจ ไม่ใช่ปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่เธอชนะการเลือกตั้ง หากแต่เป็นปี1974  หลังวิกฤตราคาน้ำมันและการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ในปี 1973 เป็นช่วงเวลาที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในแต่ละวัน คนงานหยุดงานยืดเยื้อ โดยเฉพาะคนงานเหมืองถ่านหินจนกระทั่งไฟฟ้าในประเทศดับ รัฐบาลพรรอนุรักษ์นิยมต้องยอมยุบสภาเลือกตั้งใหม่เพราะไม่สามารถควบคุมเหล่าสหภาพแรงงานทั้งหลายได้ ผลคือไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก แต่พรรคแรงงานได้คะแนนเสียงมากที่สุด ได้ตั้งรัฐบาล มีเฮโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson)  เป็นนายกฯ ในขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งแพ้เลือกอย่างราบคาบตั้งก็เข้าสู่วิกฤตการณ์ภายในพรรค เกิดวิกฤตการต่อสู้ทางแนวคิดในพรรค 2 แนวทางหลักซึ่งผู้คนเรียกกันว่า Wets Tory กับ Dries Tory  ทั้งนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมนั้นถูกเรียกว่า พรรคทอรี โดยสมาชิกพรรคยุคแรกเป็นพวกเจ้าขุนมูลนาย เรียกว่า Wet ในยุคต่อมาสมาชิกพรรคมาจากคนธรรมดา เรียกว่า Dry
แธตเชอร์ เองก็มีพื้นเพเป็นลูกสาวเจ้าของร้านของชำในเมืองลิเวอร์พูล เป็นสมาชิกรุ่นใหม่ของพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นคนสามัญธรรมดา เริ่มแรกชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เวลานั้นอังกฤษเต็มไปด้วยการแบ่งชนชั้น โดยสังเกตจากสำเนียงภาษา แธตเชอร์เองก็เป็นคนบ้านนอกที่พยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง ในขณะที่ ภายในพรรคอนุรักษ์นิยมก็เกิดลักษณะ 2 ขั้วขึ้นมา คือกลุ่มเก่าที่เป็นขุนนาง กับพวกสามัญชนอย่างแธตเชอร์ นำโดยคีธ โจเซฟ (Keith Joseph) เบอร์หนึ่ง และแธตเชอร์ เป็นเบอร์สอง

เดินสายท้าทายถึงมหา’ลัย โจมตีแนวสังคมนิยมอย่างหนัก
การต่อสู้ทางความคิดนั้นไม่ใช่เฉพาะแค่ในพรรค แต่เคลื่อนไหวภายนอกด้วย เพื่อโน้มน้าวสาธารณชน ปัญญาชนต่างๆ มีการร่วมมือกับสถาบันกิจการเศรษฐกิจเพื่อวิจัยบนฐานของเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดแข่งขันเสรี ต่อต้านรัฐสวัสดิการ แต่สถาบันเหล่านี้ก็เป็นวิชาการมากเกินไป ไม่พอที่จะเป็นถังความคิด(Think Tank)ที่จะเสนออะไรท้าทายสังคม ไม่เน้นการผลักดันให้เกิดความคิดความเชื่อแบบใดแบบหนึ่งในสังคม ทั้งสองจึงตัดสินใจตั้ง Center for Policy Study (CPS) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเพื่อรณรงค์ทางความคิดต่อผู้มีอิทธิพลต่อสาธารณชน เพราะในอังกฤษจะยังไม่เคยมีหน่วยงานแบบนี้มาก่อนเลยก็ตาม ในขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกากลับมีหน่วยงานเช่นนี้จำนวนมาก
ตลอดเวลา 3-4 ปีนั้นโจเซฟเดินทางปาฐกถากว่า 500 ครั้ง มีสนามสำคัญอยู่ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อวิพากษ์รัฐสวัสดิการและสังคมนิยมว่าสร้างวัฒนธรรมพึ่งพารัฐ บั่นทอนความคิดริเริ่มทางธุรกิจ แล้วเสนอนโยบายปฏิรูปตลาด ลดบทบาทของรัฐ เพิ่มบทบาทของเอกชน เน้นการใช้กลไกราคา ลดภาษี ส่งเสริมธุรกิจเอกชน ขจัดเงินเฟ้อ ลดอำนาจสหภาพแรงงาน
ปี 1974 พรรคอนุรักษ์นิยมมีการเลือกผู้นำคนใหม่ โดยแธตเชอร์ได้ก้าวมาเป็นผู้นำพรรค เนื่องจากเบอร์หนึ่งอย่างโจเซฟ ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพราะในช่วงหาเสียงนั้นเขาเผลอพูดทำนองว่า “รัฐสวัสดิการทำให้ลูกไม่มีพ่อเต็มไปหมด” ซึ่งสร้างประเด็นถกเถียงจนทำให้เขาต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคและแธตเชอร์ขึ้นเป็นผู้นำแทน
ปี 1976 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนต้องมีการกู้เงินจาก IMF
ปี1978สหภาพแรงงานนัดหยุดงานทั่วประเทศในขณะที่หิมะตกหนัก พรรคแรงงานเจรจากับคนงานไม่ได้จึงสูญเสียความน่าเชื่อถือไป นี่จึงเปลี่ยนจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แธตเชอร์ขึ้นมามีอำนาจ ปี1979 ภายหลักพรรอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง แธตเชอร์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ช่วงแรกฐานอำนาจยังไม่เด็ดขาด มีทั้ง ‘Wet’ และ ‘Dry’ ปะปนกันไป รัฐบาลจึงมีคนกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ปนกันและทำให้มีปัญหาในเวลาต่อมา แต่ภายหลังกลุ่มเก่าก็ค่อยๆ หมดอำนาจลงในที่สุด
เมื่อแธตเชอร์เข้ามาก็ปฏิรูปเศรษฐกิจ ออกกฎหมายลดอำนาจสหภาพแรงงาน เพิ่มอำนาจนายจ้าง เช่น หากจะนัดหยุดงานต้องประชุมสมาชิกและมีมติก่อน หรือแม้กระทั่งมาตรการตัดเงินช่วยเหลือครอบครัวคนงานที่หยุดงาน เจรจากับสหภาพแรงงานอย่างแข็งข้อ เพิ่มแรงจูงใจในการทำงานและการประกอบการด้วยการลดอัตราภาษี ดำเนินนโยบายการเงินตามแนวทางของมิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) คือหยุดเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูง ธุรกิจโรงงานพังระเนระนาด คนว่างงาน พาเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยเพื่อปราบเงินเฟ้อ
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เป็นความตั้งใจ
เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะช็อก อัตราเงินเฟ้อต่ำลงกะทันหัน ประชาชนไม่พอใจแธตเชอร์ เกิดกบฏในพรรคอนุรักษ์นิยม ทว่าปี1982 กลับเกิดสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ขึ้นมาเสียก่อน แธตเชอร์นำอังกฤษชนะสงคราม และตามมาด้วยการเลือกตั้งใหม่ในปี 1983 การกลับมาเป็นรัฐบาลแธตเชอร์ 2 นั้นได้คะแนนเสียงท้วมท้น เธอจัดการถีบพวก Wet ออกไปจากพรรค ทำให้มีฐานทางการเมืองมั่นคง แล้วจึงเริ่มลงมือจัดการกับสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหิน ซึ่งเข้มแข็งที่สุด และเคยโค่นล้มพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อปี 1974
การสิ้นสุดยุค ‘สหภาพแรงงานครองเมือง’
ในปี1984 คณะกรรมการถ่านหินประกาศปิดเหมืองถ่านหินที่ขาดทุน ทั้งแบบเร่งด่วนและทยอยปิด คนงานเองก็รู้ตัว จึงเริ่มปลุกระดมนัดหยุดงาน การนัดหยุดงานดังกล่าวมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองยอร์คเชียร์ (Yorkshire) เป็นการหยุดงานที่ยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่เดือนมีนาคม1984  ข้ามไปถึงปี1985 รวมแล้ว 11 เดือน มีการไล่คนงานออกถึงราว 200,000 คน จากทั้งหมด 1.8 ล้านคน อย่างไรก็ดี ยังมีคนงานที่ทำงานอยู่ เพราะคนหยุดงานไม่สามารถขัดขวางคนที่จะเข้าไปทำงานได้เนื่องจากแธตเชอร์มีการเตรียมการไว้อย่างดีโดยแก้กฎหมายห้ามเรื่องนี้ไว้ นอกจากนี้ยังส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลเข้มงวด จึงเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ครั้งนี้ แธตเชอร์ได้บทเรียนจากปี 1974 มาแล้ว จึงตระเตรียมโครงสร้างไว้อย่างดี โดยค่อยๆ เปลี่ยนให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นก๊าซและน้ำมัน ลดการพึ่งพาเหมืองถ่านหิน หากโรงไฟฟ้าใดยังใช้ถ่านหินอยู่จะต้องสะสมถ่านหินให้ใช้ได้อย่างน้อย 1 ปี รวมไปถึงการแก้กฎหมายไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวคนงานที่นัดหยุดงาน
ในที่สุดคนหยุดงานมาประท้วงเริ่มสับสนวุ่นวาย เพราะไม่ได้ค่าจ้าง ครอบครัวก็ไม่เงินช่วยเหลือจากรัฐ เมื่อถึงหน้าหนาว ไฟฟ้าก็ไม่ดับ ดังนั้นนอกจากคนหยุดงานและครอบครัวแล้วก็ไม่มีใครได้รับผลกระทบ ครอบครัวคนงานไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ ไม่มีฮีทเตอร์ ไม่มีเงินซื้ออาหาร เมื่อถึงต้นปี 1985 คนงานก็หมดแรง ยอมแพ้ สิ้นสุดยุคสหภาพแรงงานครองเมือง และหลังจากนั้นมาก็ไม่อาจท้าทายอำนาจรัฐได้อีกต่อไป ในขณะที่รัฐก็ดำเนินการแปรรูปกิจการต่างๆ เป็นของเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อถึงปี1987 แธตเชอร์ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 จึงปรับเปลี่ยนระบบประกันสุขภาพ (National Health Service/NHS)  ที่ขาดดุลอย่างหนักเนื่องจากผู้สูงอายุเยอะขึ้นด้วย เป็นการตัดรายจ่ายของรัฐ ดึงภาคเอกชนเข้ามาทำแทน
แต่เมื่อถึงในช่วงปี 1989 คะแนนนิยมของแธตเชอร์ก็เริ่มตกต่ำลง
คะแนนนิยมของแธตเชอร์ตกด้วย 2 สาเหตุหลัก หนึ่งคือ นโยบายต่อต้านสหภาพยุโรปหรือ อียู เวลานั้นกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกเริ่มรวมตัวกันตั้งสหภาพ วางแผนจะใช้เงินสกุลเดียวกัน แต่แธตเชอร์ต่อต้านอย่างหนัก ตามแนวคิดของฮาเย็ค เธอเชื่อว่าการรวมเป็นสหภาพยุโรปมีรัฐบาลเดียวจะเป็นรัฐเผด็จการ จนสร้างความเบื่อหน่ายให้กับพรรคพวกของเธอเอง ในขณะที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่เห็นว่าอังกฤษต้องเข้าร่วมสหภาพ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ต้องตามกระแส ทว่าตัวชี้ขาดที่ทำให้แธตเชอร์ตกเก้าอี้ก็คือ ภาษีท้องถิ่น หรือภาษีบำรุงท้องที่ แธตเชอร์จะคิดภาษีเป็นอัตราเดียวจากการนับจำนวนประชากรรายบุคคล แทนที่จะแบ่งประเภทว่าอยู่ใกล้ไกล และคิดจากพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ ทำให้คนไม่พอใจ เพราะเดิมคนไม่เสียภาษีก็ต้องเสียขึ้นมา เกิดการจลาจลประท้วง ต่อต้านไม่ยอมจ่าย และสุดท้ายเมื่อหมดวาระแธตเชอร์ก็ถอนตัวออกไปในเดือนพ.ย. ปี1989
โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยน ทุนนิยมนี่มันทุนนิยมจริงๆ
จะเห็นได้ว่าแธตเชอร์ได้เข้ามาในยุคสมัยที่สังคมนิยมรัฐสวัสดิการของอังกฤษกำลังมีปัญหาอย่างมาก แล้วก็สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้น สิ่งที่แธตเชอร์ทำก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของยุโรปและอเมริกา ที่เปลี่ยนจากอุตสาหกรรม มาเป็นการบริการ ความสำคัญของอุตสาหกรรมเดิมในยุโรปและอเมริกาลดลงแต่กลับเคลื่อนไปเติบโตที่เอเชียแทน เนื่องจากแข่งขันไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก เหล็กกล้า หรือเหมืองถ่านหิน ปัจจุบันเหมือนถ่านหินในอังกฤษเหลือเพียง 6 แห่ง
กล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมทุนนิยมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีวิวัฒนาการเป็นของตัวเอง เมื่อนั้น กำลังแรงงาน โครงสร้างอาชีพต่างๆ ก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย คนที่เคยประกอบอาชีพแบบเก่าๆ มีทักษะเดิมๆ ก็กลายเป็นล้าสมัย ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม แต่คนก็ล้าสมัยไปด้วย จึงต้องหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่น ซึ่งมีรายได้น้อยลง แต่ก็ต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้โทนี แบลร์  (Tony Blair) ชนะการเลือกตั้งในเวลาต่อมา

วิโรจน์ อาลี

ประเด็นที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต(flexible production) การผลิตมากๆ ให้ต้นทุนถูก ใช้แรงงานไร้ฝีมือเริ่มหมดความสำคัญลงเพราะมีการแข่งขันมากขึ้น ในขณะที่อเมริกาก็สร้างสร้างตัวละครผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมาทดแทนสิ่งที่ยุโรปเคยผลิตได้ อย่างในเอเชียตะวันออกเช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย มีหลายคนตั้งคำถามว่า แธตเชอร์กับเรแกนด์ร่วมกันตั้งเสรีนิยมใหม่(Neo Liberalism) จึงทำให้ระบบการผลิตเปลี่ยนไป หรือเศรษฐกิจเปลี่ยนไปแล้วเพราะ Fordism ได้สร้างชนชั้นกลางที่มีความต้องการบริโภคหลากหลายขึ้นมา ทำให้ระบบการผลิตเปลี่ยนไป
มีหลายเสียงเห็นว่ารัฐบาลของแธตเชอร์สร้างประโยชน์ให้คนชนชั้นหนึ่ง แต่ก็ทำให้อังกฤษเสียหายมากเช่นกัน ทำให้เกิดคำถามว่าโทนี แบลร์คืออะไร เป็นภาคต่อหรือเป็นวิวัฒนาการตรงข้ามกับแธตเชอร์(Antithesis) แบลร์ให้ความสำคัญกับสังคม เป็นการสร้างจุดขายแบบชนกับแธตเชอร์ซึ่งพูดเอาไว้ว่าไม่มีสังคม ''There is no such thing as society. There are individual men and women, and there are families'' แต่แบลร์บอกว่าจำเป็นต้องมีสังคม ต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจทุนนิยมให้ขยายตัวได้ และเอาส่วนต่างนั้นกลับไปจุนเจือสังคมได้ เพื่อให้สร้างรัฐสวัสดิการได้ ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนระบบการผลิตได้ ทำให้อังกฤษมีความสามารถในการแข่งขัน และยุคนี้ก็เป็นยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูจริง
พิชิต: แบลร์เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เข้ามาแบบมีธงชัดเจนว่าจะต้องเลิกสังคมนิยม แม้พรรคแรงงานของเขาจะตั้งขึ้นมาบนแนวคิดสังคมนิยมเกือบร้อยปีแล้ว แต่แบลร์ก็ค่อยๆ ลดสัดส่วนอำนาจของสหภาพแรงงานที่เคยมีอิทธิพลต่อพรรคแรงงานอย่างมากลงเรื่อยๆ เสนอทางเลือกที่สาม คือไม่สังคมนิยมสุดโต่ง และไม่ทุนนิยมเกินไป แต่เขาก็ยังต้องต่อสู้อย่างหนักมากกว่าจะชนะการเลือกตั้ง ทั้งสู้กับประเพณีภายในพรรคที่สืบทอดมาเป็นร้อยปี และสู้กับสหภาพแรงงานซึ่งมีอำนาจมาก เมื่อขึ้นมาได้จึงมีอำนาจมาก แต่ฝ่ายสังคมนิยมก็เกลียดแบลร์ เชื่อว่าทางเลือกที่สามก็เป็นเพียงการตกแต่งลัทธิแธตเชอร์ เท่านั้น แบลร์เองก็ไม่ได้ให้สวัสดิการมากขึ้นจากเดิมแถมยังตัดบางอย่างออกไปมากกว่ายุคของแธตเชอร์ด้วยซ้ำ มีการปรับลดค่าใช้จ่ายของรัฐลงไปเรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ แต่ที่ทำที่ไม่สำเร็จก็คือ การปฏิรูประบบราชการ การพยายามเปิดเสรีข้าราชการท้องถิ่น

 

คำถาม

1. แนวคิดระบบเศรษฐกิจของอังกฤษใน 30 ปีที่ผ่านมาวางอยู่บนแนวความคิดแบบใด
พิชิต: ต้องกล่าวถึง ฟริดริช ฟอน ฮาเย็ค ในฐานะเป็นคู่ชกคู่แค้นของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ตอนที่เคนส์เขียนหนังสือเศรษฐศาสตร์มหภาคออกมา ยืนยันว่ารัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจ กลไกตลาดมีปัญหาที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการจ้างงานเต็มที่ได้ รัฐบาลต้องเข้าช่วย สองคนนี้เจอกันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่เคมบริดจ์ มีการโต้ถียงกัน ช่วง20ปีแรก ความคิดของเคนส์เป็นฝ่ายชนะ กลายเป็นนโยบายเศรษฐกิจมาตรฐานของซีกโลกทางตะวันตกทั้งหมด ฮาเย็คก็หันมาเขียนงานวิชาการ ปรัชญาการเมือง
เรแกน + แธตเชอร์
ปัจจุบันเมื่อพูดถึงเสรีนิยม ฮาเย็คก็เป็นคนสำคัญที่มีบทบาทมาก แต่เมื่อพูดคำว่าเสรีนิยมจะต้องระวัง เพราะในสหรัฐอเมริกา เสรีนิยมหมายถึงพรรคเดโมแครต ซึ่งค่อนไปทางซ้ายสังคมนิยมหรือรัฐสวัสดิการ เช่น โอบามา ไม่ใช่เสรีดั้งเดิมที่เน้นบทบาทปัจเจกชน ลดบทบาทรัฐ ดังนั้นพวกเสรีนิยมจริงๆ ที่ยังเชื่อในสิทธิส่วนบุคคลเหนือรัฐ จึงต้องหาชื่อใหม่ เป็นเสรีนิยมคลาสสิกแบบจอห์น ล็อก(John Locke) ซึ่งฮาเย็คเป็นผู้นำทางความคิดในกระแสนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเน้นปัจเจกชนเป็นจุดเริ่มต้น สิทธิทางบุคคลเหนือสิทธิส่วนใหญ่ เชื่อว่าสังคมจะมีระเบียบและสงบสุขได้เองหากถูกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องเข้าแทรกแซง รัฐบาลที่จะมีจึงต้องมีอำนาจจำกัดมากที่สุด มีเพื่อส่งเสริมสิทธิส่วนบุคคลทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ต้องแข่งขันกันให้เกิดการผลิตและความมั่งคั่งในสังคม ทุกคนจะได้ประโยชน์แม้ว่าจะมีความขัดแย้งบ้างแต่จะมีสันติภาพ นี่คือหลักความคิดที่นำไปแนวคิดสู่ตลาดเสรี ซึ่งเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาในช่วงปี 1970 เพราะเศรษฐศาสตร์แบบเคนเซียนเริ่มมีปัญหาเหมือนกันทั่วยุโรป
 แนวความคิดดังกล่าวเกิดในสหรัฐก่อน แล้วจึงแพร่มาในอังกฤษ เข้าไปมีอิทธิพลต่อนักการเมืองในสหรัฐส่งอิทธิพลต่อปีกการเมืองหนึ่งของพรรครีพับบิกันซึ่งมีโรนัลด์ เรแกนอยู่ ส่วนในอังกฤษ ความคิดนี้เข้าไปมีอิทธิพลทางปีกของแธตเชอร์ จึงการเกิดการปฏิวัติของเรแกนในอเมริกา ควบคู่ไปกับการปฏิวัติของแธตเชอร์ในอังกฤษ นโยบายที่ทั้งสองคนทำค่อยซึมเข้าสู่องค์กรระหว่างประเทศสององค์กรคือ world bank กับ IMF กระทั่งยุคต้น 90 ทั้งสององค์กรก็ประกอบเป็นชุดนโยบายที่ส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ที่จะรับความช่วยเหลือจากสององค์กรนี้ในการกำหนดเงื่อนไขความช่วยเหลือให้สร้างความเจริญในประเทศ เช่น การสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า และเนื่องจากทั้งสององค์กรมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองวอชิงตัน จึงเรียกนโยบายนี้ว่าฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะใช้วิธีการช็อกเศรษฐกิจแบบที่แธตเชอร์ทำ คนจนที่ต้องพึ่งพารัฐสวัสดิการได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ทั้งนี้ในทางรัฐศาสตร์เรียกฉันทามติวอชิงตันว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ เป็นคำที่คิดโดยสังคมนิยมฝ่ายซ้ายเพื่อบอกว่าการกลับมาใหม่ที่โหดเหี้ยมยิ่งกว่าเดิมของเสรีนิยม เพราะทำงานได้แม้ในระบอบเผด็จการ อย่างไรก็ตามหลักใหญ่ของเสรีนิยมก็คือการสร้างเสถียรภาพทางมหภาค เปิดเสรีการค้าและการลงทุน ลงทุนข้ามชาติได้เยี่ยงคนชาติ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ แยกโครงสร้างพื้นฐานออกจากการบริการ โครงสร้างพื้นฐานเป็นของรัฐ แต่ให้เอกชนแข่งกันบริการ ลดการกำกับควบคุม สร้างวินัยการคลัง จัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐให้เน้นเฉพาะการศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐานให้ทั่วถึง ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น ลดอัตราภาษีลง เพื่อให้เก็บได้มากขึ้น
2. มีข้อถกเถียงว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษหรืออเมริกา ถ้าสามารถทำได้จะมีเอกชนเข้ามาแข่งขันกันมากกว่าประเทศโลกที่สาม นี่ถือเป็นมายาคติ หรือเป็นความจริง
พิชิต: ขึ้นอยู่กับวิธีการ ไม่ว่าเป็นการแจกคูปองไว้แลกหุ้น การนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือแจกหุ้นไปเปล่าๆ ก็ได้ ว่าจะโปร่งใสแค่ไหน แต่เมืองไทยยังไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง มีเพียงการเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจให้เป็นมหาชน  (Corporatization) แต่รัฐยังถือหุ้นมากกว่าร้อยละ50-60 ซึ่งมีข้อดีคือทำให้โปร่งใสมากขึ้น ตรวจสอบได้ มีข้อมูลให้สาธารณะเข้าถึง       
3. วิธีคิดของแธตเชอร์ให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคล ทว่าทำไมนโยบายต่างประเทศของเธอจึงมีลักษณะเป็นชาตินิยมมาก
วิโรจน์:  เรื่องการระหว่างประเทศเป็นแนวคิดสัจนิยมที่ชัดเจน เน้นการหาผลประโยชน์ให้มากที่สุด พรรคอนุรักษ์นิยมเชื่ออยู่ตลอดว่าการรวมยุโรปจะทำให้เกิดปัญหาในที่สุด เพราะต้องตัดอำนาจอธิปไตยของตนเองให้ฝ่ายอื่นบริหาร การตรวจสอบยาก ระบบราชการขนาดใหญ่ทำให้ค่าใช้จ่ายในแต่ละปีหายไปกับการอุดหนุนสินค้าเกษตร และอื่นๆซึ่งทำให้การรวมกันมีปัญหา ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เดวิด แคเมอรอนได้ใช้เรื่องนี้เป็นเดิมพันในการเลือกตั้งว่าจะให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป
พิชิต: กรณีของสหภาพยุโรป แธตเชอร์ไม่ได้เริ่มต่อต้านจากฐานคิดชาตินิยม แต่เริ่มจากความเป็นไปได้ ที่จะปรับให้เข้ากับแนวคิดตัวเอง คือ  ไม่ต้องการให้มีรัฐบาลขนาดใหญ่เกินไป เป็นระบบขุนนาง จะมีธนาคารแห่งชาติซึ่งมีอำนาจครอบคลุมหลายประเทศขึ้นมา เป็นเรื่องที่อันตรายมาก
วิโรจน์ : เนื่องจากเวลานั้นเยอรมนีกับฝรั่งเศสเป็นรัฐสวัสดิการทั้งคู่ ทำให้แธตเชอร์ระแวงว่ารูปแบบของสหภาพยุโรปจะออกมาเป็นแบบนี้ด้วย แล้วจะมีผลมาบังคับประเทศอังกฤษ จนรัฐบาลไร้กลไกจัดการกับระบบเศรษฐกิจของตัวเอง
พิชิต: ในเวลานั้นมีเสียงต่อต้านแธตเชอร์ มีกระแสความเชื่อว่ายังไงก็ต้องรวมเข้า เมื่อเกิดสหภาพยุโรป การใช้จ่ายของภาครัฐไม่เหมือนกัน บางประเทศขาดดุลงบประมาณมาก ในขณะที่บางประเทศขาดดุลงบประมาณน้อย ปริมาณงานและระดับเงินเฟ้อก็ไม่เท่ากัน อัตราดอกเบี้ยก็ไม่เท่ากัน แต่ใช้เงินในสกุลเดียวกัน สุดท้ายก็จะเห็นว่าธนาคารแห่งชาติของแต่ละประเทศก็ยังมีอำนาจในการดูแลตัวเอง แยกไปจากกลุ่ม เมื่อเกิดไม่ประสานกันขึ้นมาก็มีปัญหาทั้งหมด เช่น ภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจกรีซ ทำให้ค่าเงินยูโรของกรีซต่ำ แล้วค่าเงินระบบเดียวกันคือยูโรก็ตกตามไปด้วย
4. การเปลี่ยน mode of production จาก Fordism มาเป็นการบริการแล้ว มีการรองรับการจ้างงานคนอย่างไร เพราะ Fordismวางอยู่บนฐานการผลิตเชิงปริมาณ
วิโรจน์: ตอนแธตเชอร์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีมีคนตกงานกว่าล้านคน หลังแธตเชอร์ออกไปกลายเป็นสองล้านกว่า หลังเมเยอร์ออกไปกลายเป็นสามล้านกว่า ในภาพรวมจึงถือว่าแก้ปัญหาอุปทานแรงงานไม่ได้ แต่มันเกิดช่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ให้คนเข้าไปสู่งานที่มีรายได้สูงได้ แล้วก็ตามมาด้วยการบริการต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ทำให้เกิดงานทดแทนงานในโรงงานอุตสาหกรรม เกิดงานหลากหลาย เช่น ทำงานเป็นกะได้ เลือกได้ มีความยืดหยุ่นสูง
พิชิต: ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จคือสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นหนัง เพลง ซอฟท์แวร์ ยา ล้วนมีสิทธิบัตร แล้วยังมีแอนนิเมชั่นในสิงคโปร์ ส่วนเรื่องคนงาน ปัญหาอยู่ที่ไม่เคยมีการเปิดช่องให้คนงานที่ตกงาน จนถึงทุกวันนี้คนงานรุ่นเดิมก็ยังข่มขื่นมากเมื่อพูดถึงแธตเชอร์ เพราะชุมชนเดิมถูกทำลายลงไปเลย กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมของผู้อพยพใหม่ แต่คนที่ได้รับประโยชน์คือคนอีกรุ่นหนึ่งที่อายุยังไม่มากและยังสามารถปรับทักษะตัวเองเข้ากับโครงสร้างที่เปลี่ยนไป
5.คิดว่าแธตเชอร์จะได้รับการจดจำในประวัติศาสตร์อย่างไร
พิชิต:  แธตเชอร์มีที่ยืนในประวัติศาสตร์ยุโรปแน่นอน เพราะสิ่งที่เธอทำไม่ใช่เพียงกระแสในอังกฤษ แต่ในยุโรปตะวันตกทั้งหมด แต่หากจะนำมาเทียบกันนายกรัฐมนตรีไทยคนไหน ก็ต้องไม่ลืมว่าคนอังกฤษที่ไม่ชอบเธอก็แทบจะถุยน้ำลายเมื่อพูดถึงเธอ แต่คนที่ชอบก็ชอบเอามากๆ

.................................................................................................................


เคาะแล้ว! แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง "กรุงเทพ-เชียงใหม่" 7 สถานี เริ่มก่อสร้างปี 57

เคาะแล้วแนวเส้นทางไฮสปีดเทรนสายเหนือ "กทม.-เชียงใหม่" ระยะทางสั้นลงจาก 715 ก.ม.เหลือ 669 กม. เงินลงทุนกว่า 4 แสนล้าน เฟสแรก "กทม.-พิษณุโลก" 382 กม. ลงทุนเฉียด 2 แสนล้าน สร้างบนเขตทางรถไฟเดิม เฟสต่อขยาย "พิษณุโลก-เชียงใหม่" ตัดแนวใหม่เข้า "สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่" มี 12 สถานี เปิดโผที่ตั้ง 7 สถานีนำร่อง ค่าตั๋วเริ่มต้น 800-1,900 บาท/เที่ยว เริ่มสร้างกลางปี"57 เปิดใช้ปลายปี"62 

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเหนือจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 715 กม.ใกล้จะแล้วเสร็จ โดยเฟสแรกจะก่อสร้างช่วง "กรุงเทพฯ-พิษณุโลก" 382 กม.ก่อน มูลค่าลงทุน 193,206 ล้านบาท กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ภายในพฤษภาคม-มิถุนายนนี้

เคาะแนว "กทม.-เชียงใหม่" 669 กม.

แนวเส้นทางภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะสรุปชัดเจนว่าจะเลือกแนวทางไหน หลังกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดยบริษัททีม คอนซัลติ้งฯได้ศึกษา และมี 5 เส้นทางเลือกให้พิจารณา ประกอบด้วย แนวที่ 1 ใช้แนวเขตทางรถไฟเดิมเป็นหลัก เริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อ ผ่าน จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน สิ้นสุดที่ จ.เชียงใหม่ รวมระยะทาง 677 กม. 

แนวที่ 2 ขนานไปตามแนวรถไฟเดิมเหมือนแนวที่ 1 จนมาถึง จ.พระนครศรีอยุธยา จะตัดเส้นทางใหม่ไปทางฝั่งตะวันตก บรรจบแนวรถไฟสายเดิมที่ อ.พยุหะคีรี แล้วเข้าสู่ จ.นครสวรรค์ จนถึงสถานีปากน้ำโพ โดยจะเป็นเส้นทางใหม่ไปถึง อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ตัดเข้าแนวรถไฟเดิมจนไปถึง อ.เมืองพิษณุโลก จากนั้นจะตัดเส้นทางใหม่ไปด้านทิศตะวันตก ตัดเข้า อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย บรรจบกับแนวรถไฟสายเดิมที่ ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง ผ่าน จ.ลำพูน สิ้นสุดที่ จ.เชียงใหม่ รวมระยะทาง 639 กม.

แนวที่ 3 ใช้แนวเดียวกับทางเลือกที่ 2 จนมาถึง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ จะตัดแนวใหม่ออกไปทางด้านทิศตะวันตกของ จ.นครสวรรค์ ผ่าน อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร แล้วมาบรรจบกับแนวที่ 2 ที่ อ.เมือง จ.สุโขทัย ระยะทางรวม 610 กม.

แนวที่ 4 ขนานไปกับแนวเดิมจนถึงถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก จากนั้นจะเบี่ยงแนวไปทางทิศตะวันตกของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ผ่าน จ.อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ แล้วตัดขึ้นเหนือไปเข้า จ.สุโขทัย เบี่ยงเส้นทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดเข้า อ.สบปราบ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง พาดผ่าน จ.ลำพูน มาสิ้นสุดที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ รวมระยะทาง 597 กม.

ตัดแนวใหม่ "ศรีสัชนาลัย"

และแนวที่ 5 เป็นแนวเส้นทางที่ 1 และ 2 มาผสมผสานกัน โดยช่วงบางซื่อ-พิษณุโลกใช้แบบเดียวกับแนวที่ 1 คือขนานไปกับแนวรถไฟเดิม ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ใช้แนวเดียวกันทางเลือกที่ 2 เมื่อผ่าน จ.พิษณุโลกแล้ว จะตัดแนวใหม่ไปทางทิศตะวันตก มุ่งไป อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย บรรจบกับแนวรถไฟเดิมที่ ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง ผ่าน จ.ลำพูน และสิ้นสุดที่ จ.เชียงใหม่ ระยะทางรวม 669 กม.

มี 12 สถานี ได้แก่ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ มีพื้นที่เวนคืน 2,700 แปลง 7,724 ไร่ เงินลงทุน 431,393 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 10,814 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 420,579 ล้านบาท

"พิจารณาแล้วแนวที่ 5 มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะยังใช้แนวเดิมในเฟสแรกจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก จะทำให้ก่อสร้างได้เร็ว ส่วนต่อขยายจากพิษณุโลก-เชียงใหม่ เลือกตัดแนวใหม่เข้าไปยัง จ.สุโขทัย เพราะอยากเปิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ และ อ.ศรีสัชนาลัย เป็นเมืองมรดกโลกจะหนุนการท่องเที่ยวได้ด้วย"

เปิดโผ 7 สถานีเฟสแรก

สำหรับตำแหน่งสถานีในเฟสแรก (กทม.-พิษณุโลก) 382 กม.นั้น นายจุฬากล่าวว่า ทางบริษัทที่ปรึกษากำหนดจุดที่ตั้งไว้แล้ว มีทั้งหมด 7 สถานี ห่างกันประมาณ 60-70 ก.ม./สถานี มีทั้งใช้สถานีเดิมและกำหนดจุดที่ตั้งใหม่ คือ 1.สถานีกลางบางซื่อ โดยรถไฟความเร็วสูงจะอยู่บริเวณชั้น 3 ของสถานี

2.สถานีดอนเมือง อยู่บริเวณสถานีรถไฟเดิม 3.สถานีอยุธยา มี 2 ทางเลือกคือ อยู่ที่เดิม และอยู่สถานีบ้านม้า ห่างจากสถานีเดิม 1-2 กม. เพราะมีที่ดินของการรถไฟฯว่างอยู่โดยรอบสถานีประมาณ 60 ไร่ สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้เต็มที่

4.สถานีลพบุรี อยู่ที่เดิม แต่จะเจาะอุโมงค์ลอดใต้ดินสำหรับสถานีรถไฟความเร็วสูง 5.สถานีนครสวรรค์ มี 2 ทางเลือกคือ อยู่ที่เดิมสถานีรถไฟนครสวรรค์ หรือที่สถานีปากน้ำโพ ห่างออกไป 4-5 กม. เพราะมีที่ว่างอยู่รอบสถานีประมาณ 100 ไร่

6.สถานีพิจิตร จะสร้างใหม่อยู่ห่างจากสถานีเดิมไปทางด้านขวาประมาณ 1 กม. และ 7.สถานีพิษณุโลก มี 2 ทางเลือกคือ อยู่ที่เดิม หรือสร้างใหม่ออกมาทางกองบิน 46 ใกล้กับสนามบิน ห่างจากสถานีเดิม 4-5 กม. โดยจะขอใช้ที่ดินทหารที่มีอยู่ประมาณ 100 ไร่

ตั้งเป้ากลางปี"57 เริ่มสร้าง

"ส่วนต่อขยายจากพิษณุโลก-เชียงใหม่ ยังเป็นแนวเบื้องต้น ยังไม่กำหนดจุดที่ตั้งสถานีชัดเจน หลังจากนี้จะลงพื้นที่สำรวจจริงอีกครั้ง ตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้างหลังเฟสแรกประมาณ 1 ปี"

นายจุฬากล่าวตอนท้ายว่า สำหรับเฟสแรกมีแผนจะเริ่มก่อสร้างกลางปี 2557 แล้วเสร็จพร้อมตั้งเป้าเปิดบริการปลายปี 2562 วิ่งด้วยความเร็ว 250-300 กม./ชั่วโมง คาดว่ามีผู้โดยสารประมาณ 16,600 เที่ยวคน/วัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 42 นาที 

อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 2.50 บาท/กม. แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ชั้นวี.ไอ.พี. (3 ที่นั่ง/แถว) ราคา 1,906 บาท/เที่ยว ชั้น 1 (4 ที่นั่ง/แถว) ราคาปกติ 1,237 บาท/เที่ยว ราคาโปรโมชั่น 640 บาท/เที่ยว และชั้น 2 (5 ที่นั่ง/แถว) ราคาปกติ 858 บาท/เที่ยว ราคาโปรโมชั่น 470 บาท/เที่ยว

............................................................................................................................


จาก Status : คุณ Hara Shintaro

คนญี่ปุ่นที่ขาดความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยเหมือนกระผมไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ทำไมทหารต้องออกโรงประกาศความน่าเชือถือของกระบวนการความยุติธรรมของศาล เนื่องจาก

๑. การป้องกันความน่าเชื่อถือของศาลยุติธรรมไม่ใช่หน้าที่ของทหาร สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง
๒. การที่ทหารออกโรงป้องกันศาล จะให้ความเข้าใจต่อประชาชนว่่า ทหารแทรกแซงกระบวนการความยุติธรรม และศาสเข้าข้างฝ่ายรัฐมากกว่าประชาชน

ไม่ใช่ป้องกันศาลเท่านั้น แต่รับรองความน่าเชื่อถือของกระบวนการความยุติธรรมของประเทศไทยอยุ่ในระดับสากล ว่า "อีกทั้งผลการพิจารณาของศาลไทยมิได้มีผลความเชื่อถือเฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงสามารถนำไปประกอบเป็นหลักฐานในการพิพากษาคดีระดับสากลได้"

เกี่ยวกับแถลงการณ์นี้ จนท ให้คำอธิบายค่อนข้างละเอียดเกี่ยวกับ "ข้อสงสัยในพฤติกรรม" แต่ไม่ให้คำอธิบายใดๆ ทำไมในระดับศาลอุทธรณ์คดีของนายอัฒวัรถูกยกฟ้อง

ถ้าหากว่ามีคดีดังเช่นนี้ โดยมีปฏิกริยาจากชาวบ้านที่ต่อต้านกระบวนการสันติภาพที่ประเทศของกระผม ทหารญี่ปุ่นไม่น่าจะออกโรงประกาศแบบนี้ เพราะการประกาศแบบนี้ ยิ่งทำให้ประชาชนสงสัยและมีความมั่นใจน้อยลงเกี่ยวกับกระบวนการความยุติธรรม แต่กระผมไม่ทราบว่า พี่น้องประชาชนไทยที่เคารพ อาจจะคิดไม่เหมือนกันครับ

สุดท้ายนี้ ขอนำเสนอความคิดเห็นส่วนตัวของผมว่่า ฝ่ายศาลออกมาแถลงการณ์เอง น่าจะดีกว่าให้ทหารออกโรงนะครับ

http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9560000054265&Keyword=%C2%D0%C5%D2
.........................................................................................................................................




ทัศนคติมีความสำคัญ
มากกว่าสติปัญญา การศึกษา
ความสามารถพิเศษ หรือดวง ...

.....................................................................................................................

...............................................................................................................................




Before the rain.
 — ที่ หอนาฬิกา มช
........................................................................................................................




จากการวิจัยระบุว่า ทุกย่างก้าวของแต่ละคนจะผลิตไฟฟ้าได้ 6 วัตต์ “ทร็อต อีเลค (Trott Elec)” หรือทางเท้าผลิตพลังงานจึงถูกออกแบบขึ้นเพื่อเปลี่ยนย่างก้าวทั้งหมดนี้ให้เป็นพลังงานสำหรับไฟถนน ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของเมืองลงร้อยละ 30 เลยทีเดียว

http://creativethailand.org/th/magazine/detail.php?id=61&p=1

................................................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น