วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

24/05/2556


หลายคนหาว่าเขามั่วเรื่อง ngl เพราะไม่เข้าใจว่ามันมาจากไหน

จากข้อมูลที่คลาดเคลื่อน “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็พูดอยู่เสมอว่าใครบอกว่าไทยผลิตน้ำมันดิบได้ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มันไม่จริง...ต้องบอกอย่างนี้ครับ จากข้อมูลกระทรวงพลังงานเองชี้ชัดว่าเราสามารถขุดเจาะปิโตรเลียรวมได้วันละ 1 ล้านบาร์เรลจริงครับ ซึ่งใน 1 ล้านบาร์เรลมาจากก๊าซธรรมชาติประมาณ 7 แสนบาร์เรล จริงๆ หน่วยของก๊าซเป็นลูกบาศก์ฟุตแต่ขอแปลงเป็นบาร์เรลเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เป็นน้ำมันดิบประมาณ 1.5-1.6 แสนบาร์เรล และที่เหลือเป็นก๊าซโซลีนธรรมชาติและคอนเดนเสท(ก๊าซธรรมชาติเหลวโดยเมื่ออยู่ใต้ดินจะมีสถานะเป็นก๊าซ แต่เมื่ออยู่บนดินจะเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว) ซึ่ง 2 ตัวนี้สำคัญมาก แต่คนไทยไม่รู้จัก กระทรวงพลังงาน ไม่เคยบอก รมว.พลังงานก็ไม่พูดถึง ซึ่ง 2 ตัวนี้ถ้าพูดภาษาชาวบ้านผมเรียกว่าหัวกะทิน้ำมันดิบเนื่องจากราคาแพงกว่าน้ำมันดิบมากเพราะมีคุณภาพ ใกล้เคียงกับเบนซินที่สุด ดังนั้นในอเมริกาจึงเรียกก๊าซตัวนี้ว่า ก๊าซโซลีนธรรมชาติ(Natural Gasoline) เพราะคำว่าก๊าซโซลีนนั้นในประเทศสหรัฐฯ คือน้ำมันเบนซิน ดังนั้นก๊าซโซลีน ธรรมชาติจึงเหมือนเบนซินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และมันมักจะอยู่ในหลุมก๊าซ เวลาขุดก๊าซเขาบอกว่าหลุมก๊าซไม่มีน้ำมันดิบนั้นถูกต้อง แต่มันมีก๊าซโซลีนธรรมชาติและคอนเดนเสท พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือหัวกะทิน้ำมันดิบนั่นเอง”
ข้อเท็จจริง/ความหมายที่ถูกต้อง ของคำว่า Condensate และ Natural Gasoline มันขึ้นขบวนการผลิต
1. ถ้าเกิดจากการผลิตปิโตรเลียม(Upstream )ก๊าชธรรมชาติที่อยู่ใต้ดินจะมีความดันสูงและอุณหภูมิสูงสถานะเป็นก๊าช แต่เมื่อไหลผ่านท่อขึ้นมาบนดินระหว่างทางความดันและอุณหภูมิลด ทำให้บางส่วนของก๊าชแปรสภาพเป็นของเหลว และเมื่อมาถึงผิวดินเข้าสู่ระบบการผลิตปิโตรเลียม โดยผ่านถัง Separator ที่ความดันและอุณหภูมิปรกติ (Normal Pressure and Temperature) ทำให้มีการแปรสภาพจากก๊าชเป็นของเหลวมากขึ้นของเหลวส่วนนี้จะมันเรียกว่า Condensate ซึ่งประกอบด้วย Hydrocarbon ด้วยตั้งแต่ Pentane หรือตั้ง C5 ลงไป
2. ถ้าเกิดจากขบวนการแยกก๊าช(Downstream)หลังจากก๊าชธรรมชาติผ่านขบวนการผลิตปิโตรเลียมแล้ว ทำให้องค์ประกอบตั้งแต่ Pentane ลงไป หรือเรียกว่า Condensate ถูกแยกออก ซึ่งในขบวนการผลิตปิโตรเลียมไม่สามารถแยกออกมาได้หมด อาจจะเรียกได้ว่ายังเหลือ Condensate อยู่ในก๊าชธรรมชาติ จากนั้นผ่านโรงแยกก๊าช ที่มีอุปกรณ์ซับซ้อนมากกว่าขนวนการผลิตปิโตรเลียมทำให้สามารถแยก Condensate ออกมาได้อีกและของเหลวส่วนนี้จะเรียกว่า NGL หรือ Natural Gasoline
จะเห็นทั้ง Condensate และ NGL องค์ประกอบคล้ายหรือเกือบเหมือนกันอาจจะต่างกันที่สัดส่วนเท่านั้น แต่เรียกต่างกันขึ้นกับขบวนการผลิตหรือแยก

สรุปได้ว่า
1. Condensate คือของเหลวตั้งแต่ Pentane ไป และได้จากขนวนการผลิตก๊าชธรรมชาติ
2. NGL คือของเหลวตั้งแต่ Pentane ไป และได้จากโรงแยกก๊าช
ดังนั้นการกล่าวหาว่ากระทรวงพลังงานไม่รายงานว่าการผลิต NGL จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะว่า NGL ไม่ได้อยู่ในขบวนการผลิตปิโตรเลียม
...................................................................................................................


เขาชอบบอกว่า ประเทศฝรั่งเข้ามาลงทุนเจาะน้ำมัน รวยกันทุกราย เพราะเขาไม่ทราบว่า ยับเยินก็มีนะ

เส้นทางสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยใช่ว่าโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ

ตั้งแต่ ปี 2543 ถึง 2555 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อ 2550 รวมระยะเวลา 12 ปี จำนวนสัมปทานที่เปิด 49 สัมปทาน หรือจำนวน 235 แปลง แต่มีผู้ได้รับสัมปทานจำนวน 63 แปลงเท่านั้น หรือ 26.8 % เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่เปิด และปัจจุบัน ปี2555 เหลือแปลงสัมปทานที่ผู้รับสัมปทานคงถือไว้ 56 แปลง หรือ 88.9 % ของแปลงสัมปทานที่ได้รับ เนื่องจากมีการคืนสัมปทานพื้นที่มีศักยภาพปิโตรเลียมต่ำ แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มความรุ่งเรือง ยุคทองด้านปิโตรเลียมกำลังจะริบรี่

กรณีที่จำแนกตามพื้นที่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดสัมปทานให้แก่ผู้สนใจจำนวน 1.126 ล้าน ตร.กม. แต่มีผู้ได้รับพื้นที่เพียง 0.359 ล้าน ตร.กม เท่านั้น หรือ 31.9 % ซึ่งต่อมามีการคืนพื้นที่เหลือจำนวน 0.213 ล้าน ตร.กม หรือ 59.3 % เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ได้รับสัมปทาน มีการสงวนพื้นที่ไว้เป็นพื้นสำหรับการผลิตจำนวน 1,308 ตร.กม หรือ 0.36 % เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ได้สัมปทาน

กรณีจำแนกตามเงินลงทุนซึ่งตลอดเวลา 12 ปี ที่เปิดสัมปทานมา 3 ครั้ง ผู้รับสัมปทานได้ลงทุนไปแล้ว 78,982 ล้านบาท มีการผลิตทั้งก๊าชและน้ำมันมูลการขาย 77,212 ล้านบาท รายได้เป็นของรัฐเท่ากับ 22,993 ล้านบาท หรือ 29.1 % เปรียบเทียบกับเงินลงทุน ซึ่งรวมทั้งค่าภาคหลวง ภาษี และ SRB ส่วนรายได้ของผู้รับสัมปทานยังติดลบ -24,763 ล้านบาท หรือ -31.35 %

ถ้าพิจารณาด้านปริมาณสำรอง พบว่าปริมาณสำรองก๊าชธรรมชาติเพิ่มขึ้น 78.1 พันล้าน ลบ ฟุต และปริมาณสำรองน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 144.8 ล้าน บาร์เรล ซึ่งเป็นการเพิ่มในอัตราที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนหลุมสำรวจ 100 หลุม หลุมประเมินจำนวน 66 หลุม และหลุมผลิตจำนวน 223 หลุม

จากการเปิดสัมปทานมาตั้งแต่ครั้งที่ 18 เมื่อปี 2543 ถึงปัจจุบันได้เปิดสัมปทานมาแล้ว 3 ครั้ง รวมระยะเวลาตั้งแต่เปิดสัมปทานถึง 2555 รวมระยะเวลา 12 ปี พบว่าแนวโน้มของปริมาณสำรองที่พบหรือเพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างมาก พร้อมกับความคุ้มทุนของผู้รับสัมปทานยิ่งน้อยลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนอย่างมาก และเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
.......................................................................................................................


พวกเขาชอบบอกว่า ประเทศไทย เจาะที่ใหนก็เจอ เขาได้ข้อมูลจากรายงานว่า เจาะหลุม เพราะหลุมมีหลายประเภค

หลุมสำรวจ (Exploration well)
เป็นการเจาะหลุม เพื่อเก็บตัวอย่างหิน (Core Drilling) เพื่อทำการศึกษาระดับชั้นหินศึกษาตัวอย่างของหินจากหลุมเจาะ รวมทั้งระดับที่แน่นอนของตัวอย่างหิน ก็จะสามารถเปรียบเทียบชนิดของชั้นหิน และโครงสร้างของชั้นหิน
หลังจากที่ทำการสำรวจทางธรณีวิทยา จนทราบว่าน่าจะมีปิโตรเลียมอยู่ในบริเวณใดบ้าง ก็จะต้องทำการเจาะหลุมสำรวจ (Exploration Well) โดยใช้วิธีสุ่มเจาะ เพื่อสำรวจหาปิโตรเลียมในบริเวณที่ยังไม่เคยมีการเจาะมาก่อน การเจาะใช้วิธีเจาะสุ่มซึ่งเราจะเรียกหลุมชนิดนี้ว่า ‘หลุมแรกสำรวจ’ (Wildcat Well) เพื่อสำรวจหาปิโตรเลียม ขั้นตอนนี้เจาะเพื่อพิสูจน์ทราบว่าร่องรอยปิโตรเลียม
หลุมประเมินผล (Appraisal Well)
หลังจากที่เจาะหลุมสำรวจและพิสูจน์ทราบแล้วว่ามีร่องรอยปิโตรเลียม จะทำการเจาะหลุมเพิ่มเพื่อประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจและหาขอบเขตของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมหลุมนี้เรียกว่า หลุมประเมินผลและหลังจากที่เราแน่ใจแล้วว่ามีแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมในปริมาณที่มากพอในเชิงพาณิชย์ เราจึงเจาะหลุมเพื่อการผลิตปิโตรเลียม (Development Well) เพื่อนำปิโตรเลียมที่สะสมตัวอยู่ใต้พื้นดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ต่อไป
หลุมผลิตปิโตรเลียม (Development Well)
หลังจากเจาะหลุมสำรวจ เพื่อเก็บตัวอย่างหิน ความลึก ระดับชั้นหิน และเจาะหลุมประเมินผล เพื่อประเมินคุณค่าทางความคุ้มทุน อัตราการไหล ระยะเวลาการไหล ปริมาณสำรองของแต่ละหลุม รวมทั้งปริมาณสำรองทั้งแปลงแล้ว ทำการวางแผนการผลิต และเจาะหลุมเพื่อผลิต การเจาะหลุมผลิตเป็นการเจาะในพื้นที่มีความมั่นใจสูงว่ามีปิโตรเลียม
ดังนั้นบางกลุ่ม บางคน เข้าใจสับสนถึงการรายงานการเจาะปิโตรเลียม และมักเข้าใจว่ากิจการปิโตรเลียมมันง่าย เจาะที่ใหนก็เจอ เพราะไม่เข้าใจประเภคและเป้าประสงค์ของการเจาะ การเจาะหลุมประเภค หลุมประเมิน เจอปิโตรเลียม 10 % ก็นับว่าโชคดีแล้ว ส่วนการเจาะประเภคหลุม หลุมผลิต ต้องเจอปิโตรเลียม 100 % เพราะผ่านการพิสูจน์มาหลายขั้นตอนแล้ว แต่บางทีอาจจะผิดหวังก็ได้
.................................................................................................................................


เขาว่ารัฐได้น้อยกว่าบริษัท จริงหรือ

ผลตอบแทนภาครัฐจากกิจการปิโตรเลียม
จากรายงานประจำปี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ประจำปี 2554ตั้งแต่เริ่มมีการผลิตปิโตรเลียม ปี 2524 - 2554 ผลิตปิโตรเลียมได้ทั้งสิ้น 3,415,928 ล้านบาท ผู้รับสัมปทานเงินลงทุนทั้งด้านการสำรวจและผลิตจำนวนทั้งสิ้น 1,459,082 ล้านบาท จากมูลค่าและค่าใช้จ่ายเป็นกำไรก่อนหักภาษีจำนวน 1,956,846 ล้านบาท และต้องเสียภาษี 50 % เป็นเงินทั้งสิ้น 695,765 ล้านบาท และต้องเสียค่าภาคหลวงตั้งแต่ 5-15 % รวมทั้งผลตอบแทนพิเศษอื่นๆจำนวน 464,257 ล้านบาท รัฐได้จากการผลิตปิโตรเลียมจำนวน 1,160,022 (695,765 + 464,257 ) ล้านบาท และผู้รับสัมทานได้จำนวน 796,824 (3,415,928 - 1,459,082 -695,765 -464,257 ) ล้านบาท ถ้าพิจารณาผลตอบแทนทั้งภาครัฐและผู้รับสัมปทาน สรุปได้ดังนี้

1.เมื่อเปรียบเทียบกับ ผลกำไรก่อนหักภาษี จำนวน 1,956,846 ล้านบาท รัฐได้ผลตอบแทน 59% และผู้รับสัมทานได้ผลตอบแทน 41%
2.เมื่อเปรียบเทียบกับ เงินลงทุน จำนวน 1,459,082 ล้านบาท รัฐได้ผลตอบแทน 79% และผู้รับสัมทานได้ผลตอบแทน 55%
3.เมื่อเปรียบเทียบกับ มูลค่าปิโตรเลียม จำนวน 3,415,928 ล้านบาท รัฐได้ผลตอบแทน 34% และผู้รับสัมทานได้ผลตอบแทน23%

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวพบว่ารัฐผลตอบแทน 59:41 เมื่อเทียบกับผลกำไร
79:55 เมื่อเทียบกับเงินลงทุน 34:23 เมื่อเทียบกับมูลค่าปิโตรเลียมข้อเรียกร้อง ต้องการให้แก้ พรบ ปิโตรเลียมเพื่อให้ค่าภาคหลวงเป็น 80 % ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขายได้ จากข้อมูลที่กล่าวมา เมื่อเทียบกับเงินลงทุนผลตอบแทนเท่ากับ 34:23 คือรัฐได้ 34 ผู้ประกอบการได้ 23 และเงินลง 43 เพื่อให้จินตนาการได้ง่ายขึ้น ถ้าลงทุนร่วมค้ากันลงทุนไป 43 บาท ขายสินค้าได้ 100 เหลือกำไร 57 บาท มาแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างไร ถ้ารัฐจัดเก็บ 80 % หรือ 80 บาทจากมูลค่า 100 บาท จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะว่าได้กำไรเพียง 57 บาทเท่านั้น ทั้งหมดเป็นข้อมูลจริง พวกที่เบี่ยงเบน ยังแถต่อไปว่า มูลค่าปิโตรเลียมคือ เงินลงทุนของรัฐ ดังนั้นรัฐต้องได้มากกว่านี้จากข้างบน อ่านให้ดี มันเหลือ 57 % จะแบ่งกันอย่างไร จะเอาทั้งหมดรัฐก็ยังได้เพียง 57 %
.......................................................................................................................


ระบบสัมปทาน (Concessionary system)
ระบบสัมปทานเป็นระบบที่เก่าแก่ที่สุด โดยรัฐบาลให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการในการสำรวจและการผลิตในพื้นที่ภายในเวลาที่กำหนดเพื่อนำทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศมาใช้ประโยชน์ โดยผู้ประกอบการมีกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียม
ระบบสัมปทานมีลักษณะที่สำคัญ คือให้พื้นที่แก่เอกชนเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และมีระยะเวลาการให้สัมปทานยาวนาน เมื่อเทียบกับระบบสัมปทานในระยะหลังๆอดีตระบบสัมปทานจะมีเครื่องมือในการเรียกเก็บผลประโยชน์ให้รัฐค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของค่าภาคหลวงในอัตราคงที่มากกว่าจะคิดเป็นอัตราส่วนตามมูลค่าน้ำมันที่ผลิตได้และในรูปของภาษีเงินได้ รัฐมีอำนาจควบคุมรูปแบบการดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่การสำรวจ ภายหลังมีระบบสัมปทานสมัยใหม่ (Modern Concessionary System) มีการเปลี่ยนแปลงปรับให้เหมาะสมมากขึ้น เช่นพื้นที่การให้สัมปทานขนาดเล็กลง ระยะเวลาในให้สัมปทานสั้นลงแต่ก็สามารถขยายเวลาสัมปทานได้หากการผลิตปิโตรเลียมยังคงให้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อยู่ ในระบบสัมปทานสมัยใหม่ ผู้ได้รับสัมปทานจะต้องนำเสนอโปรแกรมการทำงานและข้อผูกมัดทางการเงิน มีการกำหนดแผนงานในการคืนพื้นที่ในด้านของการจัดสรรผลประโยชน์ รัฐได้รับผลประโยชน์ในรูปตัวเงินจากค่าภาคหลวง ที่คำนวณตามสัดส่วนของมูลค่าผลผลิต โดยอัตราค่าภาคหลวงอาจจะอยู่ในรูปของค่าคงที่หรือขั้นบันไดซึ่งอัตราค่าภาคหลวงจะเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณผลผลิต และมีการจัดเก็บภาษีเงินได้สุทธิ รัฐเรียกเก็บโบนัส เมื่อลงนามในสัญญาเมื่อพบแหล่งปิโตรเลียมหรือเมื่อผลิตได้ในปริมาณที่กำหนด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่รัฐกำหนดร่วมกับผู้ประกอบการ นอกจากนี้รัฐยังมีอำนาจในการตรวจสอบและควบคุมการตัดสินใจของบริษัทในบางกรณีเช่น แผนงานการสำรวจขั้นต่ำ รวมไปถึงการอนุมัติแผนพัฒนาพื้นที่และกำหนดราคาปิโตรเลียมประเทศที่ใช้ระบบสัมปทานในปัจจุบันได้แก่ประเทศสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เดนมาร์กนอร์เวย์ สวีเดน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไนจีเรีย อังโกลา และไทย
สรุป
ระบบสัมปทาน คือการให้พื้นที่สัมปทานแก่ผู้ประกอบการ เพื่อทำการสำรวจและผลิตภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้ผู้ประกอบการมีกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียม รัฐจัดเก็บผลประโยชน์



ระบบแบ่งปันผลผลิต (Production sharing contract)
ระบบสัญญา (Contractual system) ผู้ประกอบการจะทำสัญญาโดยตรงกับรัฐโดยที่เงื่อนไขในแต่ละสัญญาไม่จำเป็นต้องเป็นเงื่อนไขเดียวกัน ต่างกับระบบสัมปทาน ที่ผู้ประกอบการอยู่ในเงื่อนไขเดียวกันทั้งหมด รัฐกำหนดเงื่อนไขและสัญญาสำหรับผู้ประกอบการแต่ละรายระบบสัญญาปิโตรเลียมยังเป็นของรัฐระบบสัญญาแบ่งได้ 2 ระบบคือ “ระบบแบ่งปันผลผลิต” และ “ระบบรับจ้างบริการ”
ระบบแบ่งปันผลผลิตเป็นระบบให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแก่ผู้ประกอบการ โดยรัฐอยู่ในฐานะผู้จ้างและมีกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียม ผู้ประกอบการอยู่ในฐานะผู้รับจ้างซึ่งเป็นผู้รับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการสำรวจขุดเจาะและผลิต รวมทั้งยังรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการสำรวจและผลิตอีกด้วย โดยรัฐและผู้ประกอบการจะตกลงแบ่งปันผลประโยชน์จากการแบ่งมูลค่าผลผลิตออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม (Royalties) ซึ่งคำนวณเป็นสัดส่วนกับผลผลิตที่รัฐเป็นผู้กำหนด ค่าใช้คืนต้นทุนหรือการหักค่าต้นทุน (Cost recovery) ซึ่งถูกกำหนดโดยผู้ประกอบการร่วมสัญญาเพื่อเป็นการใช้คืนต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการสำรวจและผลิต โดยจะถูกระบุไว้ในสัญญาอย่างละเอียด และส่วนสุดท้ายคือ ก๊าซส่วนกำไร (Gas profit) หรือน้ำมันส่วนกำไร (Oil profit) ซึ่งส่วนของกำไรที่กำหนดล่วงหน้านี้จะแบ่งออกเป็นสัดส่วนที่จัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์กันระหว่างผู้ประกอบการคู่สัญญากับรัฐบาล ซึ่งส่วนนี้เองที่เป็นที่มาของชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ระบบการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างรัฐและเอกชน”นอกจากนี้แล้ว บริษัทเอกชนยังต้องจ่ายผลประโยชน์แก่รัฐในรูปของภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกด้วยและอุปกรณ์เครื่องมือการสำรวจและผลิตต่าง ๆ อาจจะตกเป็นของรัฐเมื่อการสำรวจสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแต่ละประเทศอาจจะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศด้วย ในปัจจุบันประเทศที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย จีน มาเลเซียอิรัก เปรู ไนจีเรีย อังโกลา อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน และรัสเซีย
สรุป
ระบบ Production Sharing Contract คือการให้พื้นที่แก่ผู้ประกอบการ เพื่อทำการสำรวจ เมื่อสำรวจแล้วรัฐอาจจะร่วมลงทุน ซึ่งเป็นช่วงเวลาการผลิตการลงอาจจะย้อนร่วมลงทุนถึงระยะเวลาสำรวจหรือเฉพาะระยะเวลาผลิตก็ได้

ระบบรับจ้างบริการ (Service contract)
ระบบรับจ้างบริการเป็นระบบสัญญาที่ผู้ประกอบการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในฐานะของ ผู้รับจ้างของรัฐที่ต้องทำตามหลักเกณฑ์และคำสั่งของรัฐ และผู้ประกอบการไม่มีกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียม เมื่อผู้ประกอบการเอกชนพบปิโตรเลียมแล้ว รัฐจะเป็นผู้จ่ายค่าจ้างดำเนินการให้แก่ผู้ประกอบการ แต่ในทางตรงข้ามหากไม่พบปิโตรเลียมในระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อสัญญาจะสิ้นสุดลง อุปกรณ์เครื่องมือในการสำรวจและการผลิตต่างๆ จะตกเป็นของรัฐเมื่อการสำรวจสิ้นสุดลง
ดังนั้น ภายใต้ระบบนี้รัฐจะเป็นผู้มีอำนาจในการดูแลพื้นที่สัญญาเพียงผู้เดียว ปิโตรเลียมเมื่อถูกนำขึ้นมาจากปากหลุมจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ขณะที่ผู้ประกอบการเอกชนจะเป็นเพียงผู้รับจ้างเท่านั้น สาเหตุที่รัฐใช้ระบบรับจ้างบริการก็มาจากความต้องการและความจำเป็นที่จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการและทรัพยากรเงินทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะบริษัทต่างชาติระบบรับจ้างบริการ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ “ระบบรับจ้างบริการแบบรับภาระความเสี่ยง” (Riskbearing service contract) และ “ระบบจ้างบริการแบบไม่รับภาระความเสี่ยง” (No-risk bearing servicecontract)
สรุป
ระบบ Service Contract คือการให้พื้นที่แก่ผู้ประกอบการ เพื่อทำการสำรวจและผลิต โดยรัฐลงทุนตั้งแต่ต้นหรือหลังจากสำรวจ ขึ้นกับความเสี่ยงที่รัฐจะเลือกอาจจะเลือกแบบเสี่ยงคือลงทุนตั้งแต่สำรวจ หรือแบบไม่เสี่ยงคือลงทุนหลังจากสำรวจแล้ว ขึ้นกับข้อตกลง คล้ายกับ Production Sharing

ระบบค่าภาคหลวง(Royalty)
รัฐไม่ลงทุน
ระบบProduction Sharingรัฐร่วมลงทุน
ระบบService Contractรัฐลงทุนเกือบทั้งหมด
......................................................................................................................


เขาว่ารัฐบาลได้น้อยจากสัมปทานปิโตเลียม น้อยจริงหรือ

จากการจัดลำดับผลตอบแทนของรัฐ (Government take) โดยแบ่งตามระบบสัมปทานที่รัฐให้กับผู้ประกอบ มี 2 ระบบ คือระบบสัมปทาน และระบบสัญญา (ระบบสัญญาแบ่งออกได้ 2 ระบบ)

1. ระบบสัมปทาน โดยผลตอบแทนของรัฐอยู่ในรูปแบบ ค่าภาคหลวง(Royalty) เช่นประเทศไทย ระบบสัมปทานจ่ายเป็นค่าภาคหลวง รัฐได้ผลตอบแทน คือตั้งช่วง 60 % ลงไป จะเห็นว่าผลตอบแทนต่ำเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ ทั้งนี้ต้องสร้างความเข้าใจด้วยว่า ระบบสัมปทานจัดเก็บแบบค่าภาคหลวง คือรัฐให้พื้นที่แก่ผู้ประกอบการทำการสำรวจ ผลิตโดยลงทุนทั้งหมด รัฐจัดเก็บค่าภาคหลวงอย่างเดียว ไม่มีการร่วมลงทุน

2. ระบบแบบสัญญาแบบแบ่งผลประโยชน์(Production sharing )คือรัฐลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการ โดยให้ผู้ประกอบการไปสำรวจ เมื่อเริ่มเข้าช่วงผลิต รัฐจะเข้าไปร่วมทุนในการผลิตด้วย อาจจะคิเงินลงทุนย้อนหลังถึงระยะเวลาสำรวจด้วยด้วยระบบนี้จะเห็นว่ารัฐเริ่มมีความเสี่ยงขึ้นกว่าระบบสัมปทานขึ้น แต่ผลตอบแทนของรัฐก็มากขึ้น คือตั้งแต่ 70 % ขึ้นไป ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ ในเมื่อเสี่ยงมากขึ้น ก็ต้องได้มากตามตัว
3. ระบบแบบสัญญาแบบบริการ(Service Contract)รัฐอาจจะร่วมทุนเหมือน Production Sharing หรือเริ่มตั้งแต่สำรวจเลยก็ได้ ขึ้นกับรัฐจะเลือกแบบ Risk หรือแบบ No Risk ระบบนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น เรื่องปรกติที่ผลตอบแทนต้องสูงขึ้น อย่างเช่นประเทศ Venezuela จะเห็นผลตอบแทนของรัฐสูงมากตั้งแต่ 80 % ขึ้นไป
.......................................................................................................................


เขามอง ค่า roi กันอย่างไร มองต่างกันเพราะว่า ...
เรื่อง Return On Investment ผลตอบแทนในการลงทุน เอาแบบง่าย เรามีตึกหลังหนึ่ง มีมูลค่าของอาคาร 1 ล้าน มีเพื่อนคนมาคุยกับเราว่า เรามาลงทุนร่วมกันทำการค้าขาย โดยเราลงทุนเป็นอาคาร ส่วนเพื่อนลงทุนค่าอุปกรณ์ ค่าแรง ค่าวัตถุดิบ โดยมีข้อตกลงกันว่า ผลกำไรที่ได้เรามาแบ่งกันตามเงิน หรือสินทรัพย์ไปลงทุนไป พอมาปิดงบประมาณ สรุปได้ว่า กำไรจากการดำเนินการ ถึงคราวที่ต้องมาแบ่งผลประโยชน์ กรณีนี้เราต้องแบ่งตามสัดส่วนของเงินที่ลงทุนไปทั้งสองฝ่ายส่วนการลงทุนด้านปิโตรเลียม มันเหมือนกันในความต่าง เหมือนกันอย่างไร เหมือนกันที่แบ่งผลประโยชน์ตามเงินทุน ต่างกันที่ใหน ต่างกันที่การจำกัดความหรือความหมายคำว่าเงินลงทุนกรณีตัวอย่างลงทุนเอาตึกไปร่วมค้าขายกับเพื่อนมันชัดเจนว่า อาคารของเราจับต้องได้ ตีราคาได้ หรือมีมูลค่าทางบัญชีหรือ Book Value ของมัน ถ้าเราไม่ลงทุนกับเพื่อน เราก็ขายตึกนั้นออกไปได้ทันที ส่วนเพื่อนที่ร่วมค้า มีการลงทุนด้วยงบประมารสามารถจับต้องได้ มีมูลค่าแต่น้ำมันที่อยู่ใต้ดิน ตามกฏหมายมันเป็นทรัพย์สินของรัฐก็จริง แต่ไม่มี Book value ของมัน เพราะเราไม่ทราบว่ามันอยู่ที่ใหน จำนวนมากน้อยเท่าใด การคิดมูลค่าทางบัญชีของน้ำมันถามว่าทำอย่างไร เราต้องทำการค้นหาว่ามันอยู่ที่ใหน คือเราต้องทำการสำรวจทั้งด้านธรณีวิทยา ทางธรณีฟิสิกม์ เจาะหลุมสำรวจเพื่อพิสูจน์ว่าแอ่งมันอยู่ที่ใหน หลุมพวกนี้เจาะเพื่อดูว่าร่องลอยปิโตรเลียม ชั้นหินกำเนิน หินกักเก็บน้ำมัน หลุมพวกนี้ไม่ใช่เจาะแล้วผลิตเลย บางท่านเห็นตัวเลขว่าทำไมมันสับสน ว่าเจาะ 100 พบ 10 หลุม มักเข้าใจว่าพบน้ำมันเพื่อทำการผลิต จริงๆแล้วเพื่อหาร่องลอยน้ำมันเท่านั้น เมื่อเจอร่องลอยน้ำมันก็ทำการเจาะหลุมประเมิน เพื่อประเมินขอบเขตที่กระชับมากขึ้น เหมือเราทอดแห เหวี่ยงแหลงไปก็ลงไปงมปลา บีบพื้นที่ให้เล็กลงเพื่อจับปลาได้ การเจาะหลุมประเมินก็เช่นกัน เพื่อทำให้พื้นที่พร้อมที่จะทำการผลิตให้เล็กลง และประเมินกำลังผลิตหรืออัตราการไหลของหลุม จำนวนน้ำมันจากหลุม ขอบเขตความต่อเนื่องของชั้นทรายหรือความต่อเนื่องของชั้นผลิตน้ำมัน หลุมประเมินที่เจาะตัวเลขที่ท่านเห็นบางที เจาะ 100 หลุมพบเจอ 50-70 หลุม ถามว่าทำไมมากขึ้น เหมือนกำการเหวี่ยงแห ที่เราบีบพื้นที่ให้แคบลง หลุมนี้อาจจะเป็นหลุมผลิตหรือไม่แล้วแต่กำลังการไหล บางทีปิดหลุมเพราะอัตราการไหลไม่คุ้ม จากนั้นเข้าช่วงเวลาการผลิต วางแผนผลิต ตั้งสถานีผลิต วางท่อ ระบบขยส่ง ระบบการขาย จากนั้นเจาะหลุมผลิต จะเห็นว่าปลาที่อยู่ในแหแคบเข้ามาทุกที เอามือจับตรงใหนก็เจอปลา เพราะเราบีบมาเรื่อยๆ การเจาะหลุมผลิต ตามหลักการต้องมั่นใจ 100 เพราะผ่านการวิเคราะห์หลาย step แล้ว ท่านจะอ่านรายงานว่า เจาะ 100 เจอ 80-90 หลุม ของที่ว่าแน่ๆบางมันยังไม่ 100 %

ที่เล่ามาตั้งแต่ต้น เริ่มจากสำรวจ เจาะสำรวจ เจาะประเมิน เจาะผลิต เพื่อให้ได้ตัวเลขประมาณที่อยู่ใต้ดินว่ามันมีจำนวนเท่าไร เขาเรียกว่า ปริมาณสำรอง prove reserve มันเป็นประมาณที่พิสูจน์แล้วว่ามันมีแน่ และสามารถผลิต นำมันขึ้นมาพร้อมที่จะขายได้ จำนวนปริมาณพิสูจน์ตัวนี้ เหมือนกับหรือเท่ากับมูลค่าของอาคารที่ยกตัวอย่างให้ฟัง ตัวเลขปริมาณสำรองนี้เราสามารถคิดว่ามันคือ Book value ของประเทศได้
คราวนี้มาเข้าถึงประเด็นที่กล่าวกันว่า return on investment ของเราได้น้อมาก ส่วนผู้ประกอบการได้มาก เพราะแนวคิดของบางคิดของท่านไม่เข้าใจระบบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตัวอย่าง
มูลค่าปิโตรเลียมที่ขายได้ 100 บาท ผู้ประกอบการลงทุนตั้งแต่สำรวจ ประเมิน และลงทุนผลิต จำนวน 43 บาท แสดงว่ากำไร 100-43 เท่ากับ 57 บาท ตามระบบสัมปทาน ผู้ประกอบการจ่ายค่าภาคหลวงแล้วแต่จะเป้น Thai1 หรือ Thai3 รวมทั้งค่าผลตอบแทนอื่นๆ เช่น SRB และ Signature Bonus สรุปเป็นภาพรวมได้ว่า รัฐได้ 34 ผู้ประกอบการได้ 23 บาท

คราวนี้คุณก็ทำการวิเคราะห์ด้านการเงิน ความคุ้มทุนของแต่ละฝ่าย
ฝ่ายรัฐได้ 34 บาท ฝ่ายผู้ประกอบการได้ 23 บาท
จากนั้นสร้างความเข้าใจที่ผิดว่า ผู้ประกอบการได้ 23/ 43 เท่า 54 % ส่วนรัฐได้เท่ากับ 34/100 เท่ากับ 34%
คุณจึงสรุปแบบข้างๆคูว่า ROI ของรัฐเท่ากับ 34 % ผู้ประกอบการ ROI เท่ากับ 54 %
ประเด็นที่ต้องการสร้างความใจว่า 100 บาทไม่ใช่เป็น Book Value ของรัฐ มันเป็นเพียงกรรมสิทธิ์ แต่มูลค่ามิใช่ ดังตัวอย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว มันเป็นสิ่งที่ดี ที่คุณมีความเห็นว่าทำอย่างไรที่จะให้ประเทศชาติได้ผลประโยชน์มากที่สุด ร่ำรวย ประชาชนได้อยู่ดีกินดี ทุกคนคิดเช่นนั้น ผมก็คิดเช่นนั้น มีทางหรือไม่ มีครับ โดยวิธีใหน เปลี่ยนระบบสัมปทาน ตามที่เคยเล่าให้ท่านฟังหลายรอบแล้วว่า ระบบเขามีทั้งโลกนี้ 2 ระบบ คือระบบสัมปทาน และระบบสัญญา ภายในระบบสัญญาแบ่งย่อยได้ 2 ระบบคือ Production Sharing คือร่วมลงทุนบางส่วน และระบบ Service Contract ระบบนี้เหมือน PSC ต่างกันที่อาจจะลงทุนมากขึ้นแบบRisk และ No risk มันต่างและเสี่ยงอย่างไร
............................................................................................................................



ระวังความโลภครอบงำ ...

วันก่อนมีอีเมล์เข้ามาหาผม บอกว่าเธอกำลังวิตกกังวลกับเงินลงทุนของตัวเอง เพราะเผลอนำไปลงทุนในกองทุนแห่งหนึ่งที่มีข่าวว่าเป็นแชร์ลูกโซ่

ลองฟังเงื่อนไขการลงทุนดูนะครับว่าน่าสนใจมั๊ย ...

- รับประกันผลตอบแทนการลงทุน 3-9% ต่อเดือน (ย้ำต่อเดือน ... ถ้า 9% ต่อเดือน ก็ต่อ 100 กว่า % ต่อปี)

- ถ้าชวนเพื่อนมาลงทุนต่อ หรือเราเปิดบัญชีเพิ่มต่อจากบัญชีเดิม จะได้ผลตอบแทนเพิ่มอีก ในฐานะผู้แนะนำ

เธอเล่าว่า ... เธอลงทุนไป 3 ล้าน เพราะลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านแล้วเห็นผลตอบแทนในบัญชีถึง 9% พูดง่ายๆแค่ลงเดือนแรก ตัวเลขในบัญชีเพิ่มทันที 90,000 บาท

เห็นดังนั้น เธอจึงลงเงินอีก 2 ล้าน โดยต่อบัญชีจากบัญชีเดิมของตัวเอง (แปลกดีมั๊ยครับ แค่เปิดสองบัญชีต่อกัน ก็ได้ผลตอบแทนเพิ่ม)

แล้วก็สมดังที่เธอหวัง ตัวเลขในบัญชีแสดงผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เดือนต่อเดือน

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ... ยังถอนออกมาไม่ได้ จนกว่าจะครบเงื่อนไขเวลา (ซึ่งเธอไม่ได้เล่าให้ฟัง)

ถึงตอนนี้เว็บการลงทุนของเธอถูกประกาศเตือนจาก คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ว่าไม่ใช่การลงทุนที่อยู่ในกำกับดูแลของ กลต.

เธอบอกว่าเป็นกังวลมาก ไม่รู้จะทำยังไงดี ตอนนี้ครบเงื่อนไขที่เธอสามารถทยอยเอาเงินผลตอบแทนรายเดือนออกได้บ้างแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะทันก่อนที่เว็บนี้จะปิดตัวหนีไปหรือเปล่

ครั้นจะชวนเพื่อนมาต่อบัญชีตัวเองก็กลัวจะเป็นบาป จึงเลือกที่จะไม่ทำ

ทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามา ผมได้แต่รับฟัง เพราะก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะช่วยยังไง ได้แต่พูดให้เค้าทบทวนการลงทุนในครั้งนี้ว่า ให้บทเรียนอะไรแก่ตัวเธอเองบ้าง

ในการลงทุนทุกครั้ง เมื่อความโลภหรือความกลัวที่มากเกินไปเข้าครอบงำ ล้วนแล้วแต่พาเราไปสู่ความสูญเสียจากการลงทุนได้ทั้งสิ้น

ก่อนลงเงินในการลงทุนใด ... ศึกษาหาความรู้ในการลงทุนนั้นให้มากพอ แล้วอย่าลืมจับหัวใจจับความคิดของตัวเองด้วยนะครับ ... ว่าเรากำลังโลภหรือกำลังกลัวมากเกินไปหรือเปล่า?

ถ้าใช่ ... มันอาจมีอะไรที่เรากำลังมองข้ามไปครับ
.....................................................................................................................

โจ กอร์ดอน (ฉบับทิ้งทวน): คนนอก กลาง ‘ความเป็นไทย’
สัมภาษณ์โดย มุทิตา เชื้อชั่ง
ภาพโดย คิม ไชยสุขประเสริฐ

เขาเป็นผู้ต้องโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เชื้อสายไทย-อเมริกัน เกิดในเมืองไทย แต่ไปใช้ชีวิตส่วนใหญ่ราว 30 ปีที่สหรัฐอเมริกา
หลังถูกคุมขังนานเกือบปี เขาตัดสินใจรับสารภาพในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘นายสิน แซ่จิ้ว’ ผู้แปลบางบทของหนังสือ The King Never Smiles ลงในบล็อกส่วนตัว
บล็อกดังกล่าว เขียนหัวบล็อกไว้ว่า “(For Educational Purposes Only/No Plagiarism Please!)
บทแปลจากหนังสือเพื่อการศึกษา ไม่มีเจตนาลบหลู่ดูหมิ่นฯผู้ใด”
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล ในปี 2549 เขียนโดย Paul M. Handley  เป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทยตามคำให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น
ศาลพิพากษาลงโทษเขาเพียง 2 ปีครึ่ง เนื่องจากรับสารภาพ  หลังจากนั้นจึงขอพระราชทานอภัยโทษ และได้ออกจากเรือนจำในวันที่ 10 ก.ค.55 เขาเก็บตัวเงียบอยู่พักใหญ่ ก่อนเดินทางออกจากประเทศไทยไม่เมื่อไม่กี่วันก่อน
                             

1

วิเคราะห์ ‘คนใน’ จากสายตา ‘คนนอก’




หลังจากออกจากเรือนจำมา มองสถานการณ์ประเทศไทยอย่างไร
คิดว่าประเทศไทยมีความขัดแย้งสูง ไม่มีใครยอมใคร ลักษณะประเทศไทยค่อนข้างอนุรักษ์นิยม conservative สูง ซึ่งมันต้านกับกระแส globalization เอามากๆ ด้านหนึ่งยอมรับความเป็นสากล อีกด้านหนึ่งจะถ่วงเอาไว้ ก็เลยเกิดความขัดแย้งขึ้นมา
ปัญหาของประเทศมันอยู่ที่คนในกลุ่มผู้นำประเทศไม่มีสำนึกทางด้านการทำงานเพื่อส่วนรวม กลายเป็นกลุ่มหลายกลุ่ม กลุ่มธุรกิจ กลุ่มทหาร กลุ่มนักการเมือง กลุ่มราชการ ทุกคนมีอิทธิพลกันหมด กลายเป็นอำนาจที่ abusive เกินไป จะบอกว่ามีการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมในสังคมก็ได้ การใช้อำนาจในทางที่ผิด แต่กลุ่มคล้ายเป็นมาเฟีย นี่เป็น characteristic ของประเทศด้อยพัฒนา หลีกเลี่ยงไม่ได้ สังคมก็เลยเลอะเทอะ ไม่มีความเป็นระเบียบ

นับตัวเองเป็นคนในหรือคนนอก
เป็นคนนอก เราเพียงแต่เกิดที่นี่ แต่ไม่ได้มาตรฐานชีวิตในลักษณะที่เขาเป็นอยู่กัน เรามองประเทศไทยว่ามาตรฐานยังไม่ได้ในระดับสากล สิ่งที่มันเป็นสากลไม่ใช่ของคนไทยทั้งนั้น ห้างสรรพสินค้า บรรษัทใหญ่ทั้งหลายมีระบบการบริหารที่เป็นสากลทั้งนั้น แต่สิ่งที่ ‘เป็นไทย’ ดูเหมือนไม่ได้พัฒนาอะไร ลองดูหน่วยงานของไทย ระบบของไทยที่ทำกันมันไม่มีระบบ

ถ้าจะให้นิยาม “ความเป็นไทย” ในความรู้สึกหรือเท่าที่เห็น คืออะไร
เขายอมรับความจริงกันไม่ได้ เป็นสังคมที่เสแสร้ง เพราะถ้ายอมรับความจริงแล้วมัน hurt feeling ที่สำคัญที่สุดคือวัฒนธรรมที่ว่าเสียหน้าไม่ได้ เพราะความหน้าบาง ฝรั่งบอกว่าคุณต้องมีหนังหนาถึงจะทำงานใหญ่สำเร็จ you have to have a thick skin ของไทยพูดวิพากษ์วิจารณ์กันหน่อยก็ทนไม่ได้แล้ว เพราะความบางของหนังรับแรงต้านทานไม่ได้ พอรับไม่ได้ก็เดือดร้อน ต้องการเอาคืน

นี่คือสิ่งที่สัมผัสได้หลังเผชิญชะตากรรมในเรือนจำ หรือเป็นสังคมไทยที่เคยรู้จักอยู่แล้ว
เคยรู้จักแบบนี้อยู่แล้ว และคิดว่าผ่านไป 30 กว่าปีที่จากไป มันพัฒนา เราเห็นวัตถุ การพัฒนาประเทศ เรานึกว่าเป็นตะวันตกมากขึ้น แต่มันตรงกันข้าม สมัยตอนเด็กๆ อายุ 16 ปี ความรู้สึกที่สังคมไทยเคยผ่าน 14 ตุลา 6 ตุลา อะไรมา กับตอนนี้มันไม่ต่างกันเลย ไม่ได้พัฒนาไปไกลเลย ในเรื่องความคิดของคน 

ไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญญาณที่ดีขึ้นเลยหรือ
ไม่มี เห็นความเปลี่ยนแปลงแต่ในทางวัตถุ แต่ความคิดคนยังเหมือนเดิม ที่สำคัญคือวัฒนธรรม รากของวัฒนธรรมประเพณีมันยังเหมือนเดิม และดูเหมือนจะหนักกว่าเดิม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็คือความใจแคบ ความเป็นอนุรักษ์นิยม

ในประเทศอื่นๆ ก็มีแนวคิดหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม ชาตินิยม เหมือนกัน
ในอเมริกาก็มี แต่เขาไม่สนับสนุน David Duke หัวหน้า KKK (Ku Klux Klan) ในปี 1986 เคยคิดจะลงสมัครชิงประธานาธิบดีด้วยนะ conservative มาก แต่ก็ไปไม่รอด ไม่มีใครสนับสนุน เขาถือหลักการว่าต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง do the right things คำพูดง่ายๆ และเป็นสามัญสำนึก

ถ้าพูดคำนี้ในบริบทไทยน่าจะมีปัญหา เพราะทุกคนต่างก็อ้างความถูกต้อง
ความถูกต้องของเขา สามัญสำนึกมันมีไหมกับส่วนรวม มันเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัวมากกว่า การที่ไม่ยอมก้าวไปข้างหน้า ความถูกต้องของเขาคือต้องย้อนยุคไปอยู่ศตวรรษที่ 18 ถ้าก้าวไปข้างหน้ากลัวจะตกเหว ยึดอยู่กับสิ่งเก่าๆ เดินวนเป็นวงกลม เหมือนที่ต่อสู้มา 14 ตุลา สุดท้ายก็เดินหลงทาง เดินวนเหมือนเดิม เข้าป่งเข้าป่ากันสมัยโน้น ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมอะไรต่างๆ เดี๋ยวนี้กลายเป็นพวกนิยมศักดินาไป แล้วก็คุยกับเราไม่ได้

ที่บอกว่า 30 ปีผ่านไป ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในทางดีขึ้น ไม่รู้สึกว่าประชาชนทั่วไป หรือคนชั้นล่างตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นหรือ
ก็ตื่นตัวขึ้น แต่ก็ยังถูกกดไว้เหมือนเดิม รู้ข่าวสาร ตื่นตัว แต่ไม่กล้าแสดงออก การแสดงออกแบบ ณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) หรือจตุพร (พรหมพันธุ์) เรียกมาชุมนุม มันเป็นลักษณะแบบพวกมากลากไป เพราะผู้นำเองก็ไม่มียุทธวิธีที่ชัดเจน และไม่คิดว่ามีผลได้ผลเสีย เสียถึงชีวิต การจะเป็นผู้นำมวลชนได้ต้องมีสามัญสำนึกว่าจะไม่พาคนไปสูญเสียฟรีๆ ง่ายๆ และจุดประสงค์ที่เอาคนมาจะบรรลุเป้าหมายได้กี่เปอร์เซ็นต์ ดูแล้วอันนี้ไม่ได้อะไรเลย แล้วมีใครออกมารับผิดไหม มีใครขอโทษประชาชนไหม ไม่มี สรุปแล้วประชาชนตื่นตัวแต่เขาก็ยังไม่กล้าพูดอะไร

สังคมไทยควรจัดการกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังไง
ผมเห็นด้วยกับนิติราษฎร์นะ เห็นด้วยกับข้อเสนอของเขา แต่อยากให้มากกว่านั้นคือยกเลิกไปเลย แต่ถ้าจะมีในปัจจุบัน ไม่ใช่ใครก็ฟ้องได้ ต้องให้สำนักพระราชวังเป็นคนรับผิดชอบ ไม่ใช่ไม่ชอบใครก็ฟ้องได้มั่วไปหมด ทำให้มันแฟร์หน่อย ไม่ควรกล่าวหากันง่ายๆ แล้วก็อยากให้ปล่อยนักโทษทางความคิดด้วย

คิดว่าประเทศไทยจะไปสู่ภาวะ “พัฒนาแล้ว” อย่างที่คุณจำกัดความได้ไหม และต้องอาศัยเงื่อนไขอะไร
เราไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่นักการเมืองนะ พูดในสายตาของชาวบ้านที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ผมว่าโครงสร้างของประเทศไทยต้องเปลี่ยน การที่จะเปลี่ยนได้ก็ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่ดึงประเทศไว้ แล้วคนชั้นนำก็ใช้เป็นยุทธวิธีในการปกครองคนด้วย

คาดการณ์เรื่องเสรีภาพในประเทศไทยในอนาคตอย่างไร
ยังยาก เพราะคนไทยยังไม่เข้าใจความหมายของเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริง ไม่ได้ปลูกฝังมา ในอเมริกาพูดกันว่าความหลากหลายเป็นสิ่งที่ดี แต่คนไทยไม่คิดอย่างนั้น คนมักจะตามกันไปมากกว่าจะเป็นตัวของตัวเองหรือกล้าแตกต่าง กล้าแหกคอก เสรีภาพในการแสดงออกก็ยังมีขีดจำกัด และยอมรับความแตกต่างไม่ได้ ถ้าผมพูดไม่ถูกหูคุณขึ้นมา มันก็ไม่ใช่เพียงว่าเป็นความคิดเห็นของผม คุณคิดไม่เหมือนฉัน ฉันเริ่มมีอคติแล้ว และบางทีอาจเลยไปถึงการหาทางกลั่นแกล้งกัน ผ่านพระพุทธรูปไม่ยกมือไหว้ อ้าว มึงดูถูกกู คิดไปเอง เป็นอคติไป คนไทยยังไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ ความอดกลั้นก็ไม่มีเลย หนังไม่หนาพอ
ทิศทางจะดีขึ้นไหม มันก็อยู่กับว่าจะยอมรับ globalization หรือวัฒนธรรมใหม่ไหม มาตรฐานเรื่องต่างๆ ที่เป็นสากล รากฐานวัฒนธรรมประเพณีแบบอนุรักษ์นิยมเป็นตัวฉุดรั้ง ไม่กล้าเปลี่ยน เพราะกลัวสูญเสียบุคลิกภาพ เขาเรียกว่าอะไรนะ insecure ไม่มั่นใจในตัวเอง

2

คดีความ – การจองจำ




คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้สนใจการเมืองไทย แล้วทำไมมีชีวิตถึงได้เกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง
ก็เขาดึงเราเข้ามา  เรามาเที่ยวเมืองไทยในฐานะนักท่องเที่ยว พาสปอร์ตก็ใช้ของอเมริกันตอนเข้าประเทศไทย ไม่ได้ใช้สิทธิของคนไทยในการเข้าประเทศ แล้วก็ต่อวีซ่า รายงานตัวที่ ตม.ทุกครั้ง ตอนเขาไปจับเรา เราก็บอกว่าผมใช้พาสปอร์ตอเมริกัน เป็นอเมริกัน เขาก็ไม่ยอมฟัง เขาถือว่าเราเกิดในประเทศไทย ช่วยไม่ได้ ผมเลือกที่เกิดไม่ได้ แล้วเราก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนเราโดน เหมือนเข้าโรงเรียนพิเศษเรียนลัดทางด้านการเมือง ถึงเห็นว่าอะไรเป็นอะไรขึ้นมา

ก่อนมาเมืองไทยรู้ไหมว่ามีกฎหมายนี้
ไม่รู้ นึกว่าพัฒนาแล้ว มองเมืองไทยภาพดี เพราะเชื่อ Amazing Thailand (หัวเราะ) ภาพดีมาก เหมือนแคริบเบียนเลย ยังคิดว่าจะไปอยู่ไหนดี เม็กซิโกไม่อยากไปเพราะมันเถื่อน มานิวซีแลนด์ดีไหม มาเที่ยวเมืองไทยสักพักดีกว่าแต่ไม่ได้คิดจะกลับมาอยู่ กลับมาก็พยายามปรับตัว สามอาทิตย์แรกไม่ได้ออกไปเจอใคร เพราะลิ้นมันยังไม่ได้ เราไม่อยากคุยกับคนแล้วให้เขาคิดว่าดัดจริตพูดไม่ชัด จนกระทั่งภาษาเราเริ่มเข้าที่เลยออกมาเจอผู้คน เราก็เหมือนฝรั่งที่รีไทร์แล้วอยากมาใช้ชีวิตง่ายๆ ซักพัก แต่มันผิดคาด

แสดงว่าตอนที่อยู่อเมริกาไม่ได้ตามข่าวสารเมืองไทย
เราไม่ได้คบกับคนไทยหรือเกี่ยวพันกับสังคมไทยเลย

เคยอ่าน The King Never Smiles ไหม
เคย

หนังสือเล่มนี้ที่ดังไหมในอเมริกา
ไม่ดังนะ คงดังในวงการวิชาการ ในทางชาวบ้านไม่มีใครสนใจ แต่ก็หาซื้อได้ทั่วไป

TKNS ในสายตาคนนอกนั้น คิดว่าควรเป็นหนังสือที่ผิดกฎหมายไหม
มันก็หนังสือวิชาการทั่วไปนะ แต่เขาไม่ได้ใช้ภาษายกย่อง ซึ่งมันเป็นธรรมดาของคนอเมริกันที่จะเรียกชื่อกันเฉยๆ

เรื่องราวมันมาถึงตัวได้ยังไง
บอกตรงๆ ว่าไม่รู้ แต่มันก็มีหลายทาง จากคนใกล้ตัวทั้งนั้น เป็นไปได้หลายประเด็น กับพี่น้องตอนเรากลับมาจากอเมริกาเขาก็กลัวเรามาแย่งสมบัติ มันมีหลายประเด็น แต่เราไม่อยากพูดถึง แล้วหลักฐานที่เขาฟ้องเราก็ไม่มีในเว็บไซต์แล้ว แต่ไปปรินท์มา ไอ้บทความจากเว็บที่เขียนสโลแกน กูไม่ใช่ฝุ่นใต้.... ข้างบนเขาเขียนว่า website can not be found มันไม่ได้อยู่ในระบบแล้ว อันนี้คือที่เห็นในสำนวน แต่บทแปล TKNS ยังอยู่ ตำรวจพิมพ์ออกมา

อะไรทำให้ตัดสินใจทำให้รับสารภาพ
คุยกับอาจารย์สุรชัย (ด่านวัฒนานุสรณ์) หาข้อมูลคดีนี้ แล้วก็ดูจากคดีอากง คุยกับหนุ่ม (ธันย์ฐวุฒิ) คุยกับนักโทษ 112 ทุกคน และดูจากการที่ศาลไม่ให้เราประกันตัว แล้วเราจะต่อสู้คดีได้ยังไง ไม่มีทางเลย แล้วทนายเราเองก็ยังไม่ได้มีโอกาสปรึกษากันยาวๆ แม้เราอยากจะสู้ อยากพิสูจน์ แต่ถ้าเราสู้ ก็คงติดยาวไปอีก แต่ถ้าให้จบเร็วที่สุด ก็ยอมรับซะ แล้วให้สถานทูตผลักดันให้เราออกไป เพราะถ้าคดีไม่จบสถานทูตก็ไม่สามารถมาก้าวก่ายกับกระบวนการยุติธรรมของไทยได้ เขาว่าอย่างนั้น

ทำใจยากไหมในช่วงจะต้องรับสารภาพ
ก็ยากเหมือนกัน เราอยากสู้ แต่ดูกระบวนการแล้ว ผมไม่เชื่อถือหลังจากเห็นสภาพคนอื่นๆ แล้ว การถูกกล่าวหาโดยใครก็ได้ แล้วจับคนมาใส่ห้องขัง ล่ามโซ่ แล้วไม่ยอมให้ประกันตัว มันเป็นการมัดมือชก แล้วใครเขาจะไปสู้คดีได้ ก็ต้องหาทางออกที่เร็วที่สุด มันก็เจ็บปวดพอสมควร แต่มันไม่มีทางเลือก เขาบังคับให้เรายอม และเราอยู่ข้างในเราไม่รู้ข่าวสารข้างนอกเลย จนกระทั่งเราออกมาถึงรู้ว่ามันเป็นข่าวใหญ่มากทั่วโลก
คิดว่าหลังอากงเสียชีวิตส่งผลสำคัญ ที่ทำเรื่องขออภัยโทษไปตอนแรกเขาให้แค่สองคน สุชาติ (นาคบางไทร) เสถียร (ผู้ต้องขัง 112 อีกคน) ขออภัยโทษมาก่อนก็ไม่ได้ ที่เราได้ก็เพราะแรงผลักดันจากสถานทูตและต่างชาติด้วย สถานทูตอาจไม่สนใจด้วยซ้ำถ้าไม่มีแรงกดดันของสากลด้วย สุดท้ายหลังจากตัดสิน มันเริ่มดีขึ้นเพราะ Elizabeth Pratt เข้ามา เจ้าหน้าที่สถานทูตก็เริ่มกระเตื้องขึ้น ก่อนหน้าเฉื่อยๆ เหมือราชการไทยแหละ 

คิดว่าสถานทูตกดดันรัฐบาลไทยขนาดไหน
คงตอบแทนสถานทูตไม่ได้ แต่คิดว่าอเมริกาพยายามกดดันประเทศไทยเหมือนกัน เช่น กรณี black list นลินี ทวีสิน ประเด็นดิสเครดิตไทยกับเรื่องกฎหมายฟอกเงิน ตามมาด้วยเรื่องออกแจ้งเตือนชาวอเมริกันให้ระวังการก่อการร้ายในประเทศไทยใน ช่วงนั้นทำให้อีกหลายชาติต่างพากันออกแถลงการณ์ร่วมด้วย ก่อนหน้าที่มีการปล่อยตัว ทางรัฐมนตรีต่างประเทศไทยเข้าพบฮิลราลี่ คลินตัน และพูดเรื่องประเด็นเราด้วย ข่าววงในของสถานทูตว่ามา
สำหรับตัวเราเองก่อนมีการปล่อยตัว ก็บอกเจ้าหน้าที่สถานทูตว่า ถ้าเขาไม่สามารถทำเรื่องเราให้สำเร็จได้ก็ไม่ต้องมาเยี่ยมอีก แต่ขอให้สถานทูตสวีเดนมาแทน เพราะเราต้องการลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่สวีเดน และต่อมาผมก็ได้รับข่าวการปล่อยตัว


ขอถามถึงรายละเอียดในทางคดี เห็นสำนวนทั้งหมดเมื่อไร และมีหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงมาถึงคุณได้ไหม
ก็เห็นในวันที่อัยการฟ้องคดี วันที่ฟ้องนั้นเป็นนาทีสุดท้าย ผมไปถึงศาล เขายังบอกให้รอคำฟ้องที่เพิ่งพิมพ์เลย แล้วก็ทำให้หนาน่ากลัวเพราะไปเอาก็อปปี้บทแปลของ TKNS เข้ามาใส่ ส่วนหลักฐานคอมพิวเตอร์ก็ไม่มีเลย มีแต่การกล่าวหา รายละเอียดต้องถามทนายอีกทีนะ ผมก็โมโหมากว่ามาหาว่าผมเป็นคนทำบล็อกได้ยังไง คอมพิวเตอร์ที่ยึดไปก็เพิ่งซื้อมาก่อนเข้าประเทศไทยได้ 3 เดือน 300 GB ใช้ไปประมาณ 50 GB โหลด OS ที่เหลือเป็นรูปที่ถ่ายในเมืองไทย กล้องที่ยึดไปก็ไม่มีอะไรเลย จบคดีคอมไม่ได้คืน ส่วนกล้องได้คืนก็ต้องโยนทิ้ง เพราะเขาเอาแบตเตอรี่ไป SD card ก็เอาไป และเลนส์ก็เสีย ขอก็อปปี้ hard drive ก็ไม่ยอม อ้างว่าศาลสั่งยึด ในนั้นไม่มีอะไรเกี่ยวกับคดีเลย ในอเมริกาผมก็ไม่ได้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตอะไรเลย เราใช้แค่นิดหน่อยตามห้องสมุด

ตอนอยู่อเมริกาทำอาชีพอะไร
เป็นเซลส์ขายรถ แต่พื้นฐานผมเรียนทางด้านคอมพิวเตอร์ เคยทำงานให้ไอบีเอ็มเมื่อหลายสิบปีก่อนแล้วก็เลิกไปนาน ไม่อยากยุ่งกับคอมพิวเตอร์

ไม่มีหลักฐาน log file หรือจดหมายจาก ISP หรืออะไรทำนองนี้หรือ
ไม่มี ไม่มีเลย

กระบวนการสอบสวนเป็นยังไง
ที่ดีเอสไอ กระบวนการสอบสวนทางการก็ไม่มีอะไร แต่ลับหลังตอนเราอยู่ในห้องขังดีเอสไอ คนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สอบสวนเขาเข้ามา แล้วก็ เขาเรียกอะไร harassment ข่มขู่และสอบถามอะไรเรามาก ซึ่งเราไม่ควรจะตอบเขาเพราะเขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจสอบสวน แต่การที่ดีเอสไอไปที่บ้านกัน 20 คน รถไม่รู้กี่คัน ปิดปากซอย ท้ายซอย ปิดทางเข้าบ้าน มันทุเรศ อย่างกับอาชญากรข้ามชาติ การเข้าไปในบ้านแล้วคิดว่าเรามีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มากมาย ไปค้นก็สายอินเทอร์เน็ตธรรมดา ผมเพิ่งได้อินเทอร์เน็ตมาสองเดือนก่อนเขามาจับ เอาไว้เข้าเว็บข่าวต่างประเทศ ไม่เคยเข้าเว็บไทย

มีหมายค้นไหม
เราอ่านตอนนั้นไม่รู้เรื่องแล้ว ฟังอะไรก็ไม่รู้เรื่อง ตอนนั้นไม่ให้เราจับเราทำอะไรเลย เพิ่งเดินออกจากห้องน้ำใส่ผ้าเช็ดตัว บอกขอไปใส่กางเกงก่อนมันก็ตะคอกไม่ให้เราไปเปลี่ยนกางเกง ไม่ให้จับอะไรทั้งสิ้น แล้วเดินเข้ามาในบ้าน ก็ชี้ไปที่ภาพ Declaration of Independence บอกชอบมากนักเหรอ จะเปลี่ยนแปลงการปกครองใช่มั้ย ทำไมไม่ติดรูปภาษาไทย ผมก็บอกเดินออกไปก็เจอแล้วประเทศไทย จะติดทำไม คิดดูเขาพูดมาได้ยังไง ก็ผมมีแค่นั้น ป้าเขาไปเที่ยวมิวเซียมมาไม่รู้จะเอาไปทำอะไรก็เอามาให้เรา เราก็เอามาติด ไม่ได้คิดอะไร นี่คือความใจแคบของคน ปรักปรำเราทันที

ได้สิทธิพบทนายไหม
ไม่ได้พบอะไรเลย แล้วเราก็งงมาก ไม่รู้เรื่อง จริงๆ ยังกลัวนึกว่าจะมาอุ้ม เพราะเขาไม่ได้แต่งเครื่องแบบ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ forensics มาใส่แจ๊คเก็ตว่า DSI มีการเช็คดีเอ็นเออะไรพวกนี้ด้วยนะ ไม่รู้เอาไปทำอะไร แสดงมาดแบบ CSI เขาคิดว่าผมนำเข้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาใหญ่โต แต่ค้นดูก็ไม่มีอะไรซักอย่าง แค่คนธรรมดา ทุกอย่างล้มเหลวหมด น่าขายหน้ามาก คิดได้ยังไง จากนั้นก็พากลับไปดีเอสไอ มีขบวนรถตำรวจทางหลวงนำหน้าด้วย ขอเข้าห้องน้ำก็ไม่ให้เข้า

กว่าจะได้ติดต่อทนายเมื่อไร
ก็เข้าไปอยู่ข้างในแล้ว เจ้าหน้าที่พยายามให้เซ็นยอมรับ ทนายบอกไม่ต้องไปเซ็น หลักฐานที่เอามาไม่ได้อยู่ในอินเทอร์เน็ต ใครๆ ก็ทำได้ สร้างเว็บปลอมขึ้นมา ไม่ต้องต่ออินเทอร์เน็ต แล้วปรินท์ออกมามันก็ได้แล้ว จะเป็นหลักฐานที่จะมาฟ้องได้ยังไง แล้วจะมาบังคับให้เราเซ็นรับ

จากสิ่งที่เผชิญทำให้อะไรเปลี่ยนไปไหม
มันทำให้เรามองเห็นสังคมไทยชัดเจนขึ้น หลังจากที่เราจากไปนานแล้วเราก็ลืมความเจ็บปวดสมัยเด็กๆ สาเหตุที่เราไม่ได้กลับมานานเพราะคิดว่าเมืองไทยก็เหมือนกับอเมริกา อาจจะไม่ได้มาตรฐานเท่ากันแต่ก็คงใกล้เคียง แต่พอมาเจอจริงๆ แล้วก็เห็นอะไรชัดเจนขึ้น มาตรฐานต่างๆ ที่คาดหวังไว้ก็ดูผิดไปหมด ยิ่งไปอยู่ต่างจังหวัด เราไม่กล้าขับรถเลย ไม่มีระเบียบเลย ทิ้งขยะกันทั่ว แต่เราก็พยายามปรับตัว ขณะที่คนไทยก็มีความเชื่อมั่นสูงว่าประเทศฉันดีที่สุดแล้ว
พอเจอคดีแบบนี้ก็เจ็บปวดมาก มันขมขื่น ผมถูกเอาเข้าไปในคุก ผมไม่อยากคุยกับใครเลย สมยศ (พฤกษาเกษมสุข) มาคุยกับผม ผมยังไม่คุยด้วยเลย แอนตี้คนไทยมาก ทำไมทำกันแบบนี้ นี่มันอะไรกัน เอาคนมาขังเพราะความคิดที่แตกต่าง มันมีที่ไหน ส่วนมากผมคุยกับคนต่างชาติ ไม่ใช่เราเห็นว่าเราวิเศษกว่าคนอื่น แต่มันคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ท้ายที่สุดเราก็เริ่มปรับตัว

สภาพของเรือนจำเป็นยังไง
สองอาทิตย์แรกเดินไม่ได้ กระเผลกออกมา เพราะเราไม่ดื่มน้ำเลย มีเครื่องกรองแต่ไม่เคยล้างเลย สกปรกมาก ที่ผมป่วยก็เพราะไม่ได้ดื่มน้ำ ไม่ได้เข้าห้องน้ำเป็นอาทิตย์ เพราะส้วมในเรือนจำเป็นกลางแจ้ง เห็นหัวกันตอนนั่ง เราไม่เคย และสกปรกมาก เขาอยู่กันได้ยังไง แล้วก็เอานักโทษไปอยู่รวมกันกับพวกติดเชื้อ เป็นโรค นอนเบียดๆ กัน ไม่มีการแยกคดี รวมกันหมด

ใช้เวลาปรับตัวนานไหม
นานเหมือนกัน เป็นเดือน แล้วก็ค่อยๆ ฟื้นสภาพขึ้นมา เราป่วยจนกระทั่งนึกว่าจะตายเอา แต่ก็ฟื้นมาได้ แล้วก็พยายามหาแนวทาง ทำยังไงเราจะรอดออกไปเร็วที่สุด เรื่องความผิดถูกไม่สำคัญแล้วตอนนั้น เรายอม เพราะมันไม่มีศักดิ์ศรีเราจะไปพิสูจน์อะไร ไม่มีศักดิ์ศรีอะไรเหลือแล้ว แล้วก็ไม่มีความเชื่อถือในกระบวนการแล้วด้วย เราไม่แคร์เรื่องศักดิ์ศรี เรายอม

ตอนนั้นมีความหวังแค่ไหนว่าจะได้ออก
มีเลือนราง มันทรมานมาก ขนาดคดีจบมาแล้วยังไม่ยอมออกใบเด็ดขาดมาให้ ดึงไปอีก 3 เดือนเพื่อให้เราติดอยู่ในนั้นนานๆ เราอยากถามว่าทำกันไปแบบนั้นมันได้อะไรขึ้นมา ประเทศชาติเสียหายถูกวิจารณ์มากเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก หากจะได้ก็แค่ความสะใจของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง สุดท้าย สถานทูตต้องไปเอาใบเด็ดขาดแล้วรีบทำเรื่องต่อ จนกระทั่งอากงตาย เราถึงคิดว่านโยบายมันเปลี่ยน ที่ผ่านมาอาจไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย จนกระทั่งมีกรณีอากง

เชื่อว่ามีการยกฟ้อง เพราะนโยบายเปลี่ยนหรือ
หลังจากอากงตาย แล้วก็มีผมที่เป็นข่าวระดับประเทศ ซึ่งคงโดนกดดันพอสมควร น่าขายหน้า เลยเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง และคงเช็คแล้วว่าที่จับมาสูญเปล่า เขาคงคิดว่าเราเป็นหัวโจก แต่ว่างเปล่า ไม่มีผลอะไรเลย กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่พยายามสร้างผลงานให้ตัวเอง แต่มันไม่คุ้มกับสิ่งที่สูญเสียไป

อย่างน้อยตอนอยู่ในคุกก็มีเพื่อนคดีแบบนี้ มันช่วยให้รู้สึกดีขึ้นไหม
ส่วนมากเราอยู่กับนักโทษต่างชาติ เราไม่ได้คุยเรื่องการเมืองกับนักโทษ112 เท่าไร ความเป็นอยู่ก็พอเอาตัวรอดไป ช่วงที่เลวร้ายที่สุดคือช่วงน้ำท่วม ไม่มีอาหารจะกิน มีแต่พวกปลาเค็ม ซึ่งเราก็ไม่ได้กิน พอดีเรามีน้ำ บะหมี่ซื้อตุนไว้ ก็พอประทังไป น้ำท่วมถึงเอว สกปรกมากด้วย ผู้คุมให้ข่าวว่ามีทหารเอาอาหารมาส่งซึ่งไม่จริง

มีข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงระบบในเรือนจำไหม
มันต้องแก้ไขทั้งระบบ ระบบราชทัณฑ์กับรถไฟนี่พอๆ กัน ล้าหลังที่สุด ถามว่ามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไหม ก็พอมีนะ บางคนก็ไปจบปริญญาโท แต่ไม่สามารถเอานักโทษที่เข้าไปอยู่ให้ออกมาเป็นผู้เป็นคนกลับเข้าสู่ระบบสังคมได้เลย กระบวนการตรงนี้ไม่มีเลย ที่เคยได้ยินกันว่ามีฝึกอาชีพ ให้การศึกษาก็เพียงลูบหน้าปะจมูก

เรื่องละเมิดสิทธินักโทษมีไหม
ยังมีให้เห็นนะ แต่เขาก็ดูคนเหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นพวกไม่มีฐานะ ไม่มีความรู้อะไร เวลาตีก็ใช้ไม้มัดยางหรือพลาสติกตีแล้วไม่มีรอยแต่ช้ำใน

3

ชีวิต ความทรงจำ และอนาคต



ตอนที่ออกจากคุกมาวันแรกเป็นยังไงบ้าง
มันมึน มันงง ไม่แน่ใจว่าเราได้อิสรภาพแล้วเหรอ เรารู้สึกแปลกๆ นั่งรถมาก็ยังมึนงงอยู่ ไม่ใช่วันนั้นวันเดียว มันเป็นหลายอาทิตย์ มีความระแวงสูง จะมีคนมาแกล้งเราอีกไหม จะมีคนมาตามเราไหม เห็นคนถ่ายรูปใกล้ๆ ก็ไม่ได้แล้ว พยายามปรับตัวมาก เพราะเราห่างจากสังคมปกติธรรมดาไปเยอะ เหมือนเอานกไปขังไว้ในกรงนานๆ ปล่อยออกมาก็บินไม่ค่อยแข็ง อาการซึมเศร้าก็มี ผมว่าทุกคนน่ะเป็น มันเหมือนเราไม่ไว้ใจประเทศไทย เรารู้สึกตัวว่าไม่ใช่คนของประเทศนี้ เลยไม่อยากเจอผู้คน

คิดว่าจะกลับมาเมืองไทยอีกไหม
ก็อยากจะกลับ เพราะมีหลายอย่างที่ท้าทายเรา แม้เราไม่มีความผูกพันกับประเทศไทย เราเจ็บปวดมาแต่เด็ก

แล้วท้าทายยังไง
ที่จริงผมตัดขาดกับประเทศไทยไปแล้ว กลับมาในฐานะนักท่องเที่ยวและกำลังจะไปอยู่แล้วด้วย แต่เมื่อคุณจับผมในฐานะคนไทย ยัดเยียดความเป็นไทยให้กับผม ในเมื่อยัดเยียดให้ผม ผมก็จะเอาสิทธิความเป็นไทยของผมคืนมาให้หมดเหมือนกัน
ผมเคยเป็นทหารให้กับประเทศไทยด้วย ตอนอายุ 19-20 ได้เวลาราชการ 6 ปี ไปอยู่ชายแดน ผมเป็นทหารหลังจากทำหนังเรื่องทองปานเสร็จ พี่หงาชวนเข้าป่าแต่ผมไม่เข้า ผมอยากเปลี่ยนชีวิตตัวเอง



ทำไมถึงมีเพื่อนเป็นศิลปินใหญ่ หนังทองปานไปทำได้ยังไง
ตอนผมวัยรุ่น ผมเป็นคนเรียนดีแต่ครอบครัวไม่อุปถัมภ์ จะสอบเข้าที่ไหนก็ได้ แต่ไม่มีทุนเรียน ก็เลยไปสอบเข้าเทคโนฯ ที่โคราช เจอพี่หว่อง ทีนี้เราไม่มีที่อยู่ เราก็ไปอยู่ตึกเรียนศิลปะกับเขา เราสอบเข้าสถาปัตย์ได้ แต่เรามาเรียนศิลปะเพราะเราไม่มีเงินเรียน ตอนนั้นยังมี air based ของอเมริกันอยู่ ประมาณปี 2515-16 โตมาช่วงนั้น แล้วก็ได้รู้จักกับพวกรุ่นใหญ่ เราเป็นเด็กมาก แต่เราทำอะไรได้หลายอย่าง ใช้ภาษาได้ ทำงานศิลปะได้ เขียนหนังสือได้บ้าง ก็เลยรู้จักกัน แล้วพี่หงาตอนนั้นเป็นนักเขียนเรื่องสั้น มีอยู่ช่วงหนึ่งเขาชวนไปทำหนังเรื่องทองปาน จริงๆ แค่จะไปดูๆ แต่พอดีคุยกับแฟรงค์ กรีน ตากล้องรู้เรื่อง ก็เลยให้โจทำเรื่องบันทึกเสียง แต่พอจบเราก็แยกทางกัน

ได้ไปเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยไหมในช่วงนั้น
ก็แค่ 14 ตุลา มีประท้วงสนามบินบ้าง ก็ไปกับพวกเขา เราไม่ใช่คนใหญ่โตอะไร มีการขึ้นเวทีแต่งเพลง ร้องเพลงบ้างนิดหน่อย เพื่อนรุ่นพี่ก็ขโมยเพลงเราไปบ้าง ก่อนเรามาเพิ่งได้รู้ว่า เขาเอาเพลงเราไปเล่นในเวทีชุมนุมเสื้อเหลืองด้วย

ไม่ได้เป็นคอการเมือง
ไม่ใช่เลย

หลังจากนั้นเป็นทหาร แทนที่จะเข้าป่าเหมือนคนอื่น  ทำไม
เพราะเราไม่เชื่อถือ การเปลี่ยนประเทศ คอมมิวนิสต์ทำไม่ได้

แล้วอะไรที่จะทำได้
เราคิดว่าไม่มีอะไรทำได้ซักอย่าง ต้องเอาตัวรอดไว้ก่อน

แล้วทำไมถึงไปเป็นทหาร
เหมือนบูธแคมป์ ดัดนิสัยตัวเอง ไม่งั้นเราจะเพี้ยนมาก เป็นศิลปินมากเกินไปแล้วไม่มีตัว control ฝึกวินัยทางความคิดว่าเราจะมีความอดทนได้แค่ไหน ไม่ได้หมายความว่าเราชอบทหาร เราก็เข้ากับระบบไม่ค่อยได้ แต่ก็แค่ลองดู ไปอยู่ฝ่ายยุทธการที่สนามบินเชียงใหม่ น่าน ไม่กี่ปี

ขณะที่เพื่อนๆ เข้าป่ากันหมด
ก็มีค่าเท่ากัน ก็ไปสู้ในป่าอดๆ อยากๆ แล้วก็ไม่ชนะ เมืองไทยยังไงก็เปลี่ยนรากความคิดคนไม่ได้

ทำไมตัดสินใจไปเมืองนอก
เราไม่อยากอยู่ประเทศไทย มันผิดหวังมาหมดทุกอย่าง ตั้งแต่เด็กแล้ว ผิดหวังจากทุกอย่าง ครอบครัว การศึกษา โรงเรียน

เป็นพวกนักวิพากษ์ตั้งแต่เด็กหรือ แต่ดูบุคลิกแล้วน่าจะเป็นคนเรียบร้อย
ไม่ใช่เลย แต่เราถูกไล่ออกจากโรงเรียน คือ สมัยเด็กๆ ครูสอนวิชาศีลธรรม ซึ่งเราก็แค่สงสัยว่ามันไม่น่ามาสอนในโรงเรียน น่าจะอยู่ในวัด แล้วมันก็สอนซ้ำๆ เหมือนเดิมทุกปี วันหนึ่งเขาพานักเรียนไปวัด นักเรียนก็นั่งหลับกันหมดตอนพระเทศน์ พอจบพระก็ถามว่าใครมีอะไรสงสัยก็ลุกขึ้นมาถามนะ ไม่มีใครถาม ครูก็บ่นว่าทำไมไม่มีใครถามเลย ขายหน้าโรงเรียน พระก็บอกลุกขึ้นมาๆๆๆ เราก็เลยลุกขึ้นถามว่า ถามจริงๆ เถอะ ทำไมถึงมาบวชเป็นพระ ได้อะไรขึ้นมาบ้าง (หัวเราะ) มันไล่เราออกจากโรงเรียนเลย สมัยนู่นตอนเราอายุ 15 เราก็ยังงงว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น

เป็นคนที่เข้ากับระบบไม่ได้มาตั้งแต่เด็ก
พอเราไปอยู่อเมริกา เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องนะ คนเราต้องกล้าคิด กล้าพูด ลูกของญาติที่เป็นเด็กไทยไปเรียนที่อเมริกา ครูเรียกผู้ปกครองพบถามว่าเด็กมีปัญหา เป็นออธิสติกหรือเปล่า เพราะมันไม่พูด เขาเข้าใจว่าอยู่กับผู้ใหญ่ต้องเรียบร้อย สงบเสงี่ยม ไม่พูด ไม่เถียง ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ถามอะไรก็ก้มหน้าหนี 

ตอนนี้กับเพื่อนศิลปินยังติดต่อกันไหม
ไม่ได้ติดต่อ

คุยเรื่องการเมืองกันได้ไหม
คิดว่าไม่ได้ สมัยหนึ่งเคยใช้ชีวิตร่วมกันมา พอมีชื่อเสียงเขาก็วางตัวอีกแบบ เป็นอีกระดับ แล้วเขาก็มองโลกคนละอย่างกับเรา

ในฐานะที่ใช้ชีวิตในบริบทนั้นด้วย ช่วยอธิบายหน่อยว่าทำไม ‘เพื่อชีวิต’ สมัยนั้น ปัจจุบันดูจะเป็นสายอนุรักษ์นิยม
คนเราพอมีอายุมากขึ้นก็ต้องการความมั่นคงให้กับชีวิตและชื่อเสียง บางคนไปคบกับพวกศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นสายอนุรักษ์นิยม เพื่อไต่ขึ้นไป มันเป็นแบบนั้นมาอยู่แล้ว เพียงแต่เราเพิ่งรู้ตัวเพราะมันหนักขึ้นในช่วงหลังที่การเมืองแตกแยกหนักๆ
การเป็นศิลปินมันต้องมีลักษณะของตัวเอง ไม่มุ่งหวังหาชื่อเสียง เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้นมา คนจะยอมรับไม่ยอมรับมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเอง แต่หลายๆ คนเป็นนักก็อปปี้ เป็นการสร้างผลงานทางลัด

ที่ผ่านมาเสียดายอะไรมากที่สุด
เสียดายเวลา เสียดายมากๆ ไม่ได้ทำงานอะไรสร้างสรรค์เลย เสียดายมากที่สุด เราออกมาก็จะทำอะไรให้มากขึ้นกว่าเดิมสองเท่า หมายถึงทำอะไรที่มีความสุข หรือให้เวลากับชีวิตเราเอง ไม่ใช่การแสวงหาอะไรต่ออะไร แต่เป็นเรื่องทางจิตใจ เวลาเราหายไปหนึ่งปีกว่า เราจะทำอะไรให้ตัวเราก็จะให้เป็นที่พอใจกับตัวเรามากขึ้นสองเท่า

คิดว่าจะไปใช้ชีวิตที่อเมริกาได้เหมือนเดิมไหม
มันก็เหมือนเดิม แต่ก็มีบาดแผลเป็นเรื่องธรรมดา คนผ่านชีวิตมาขนาดนี้ ถึงไม่ได้เข้าคุกก็มีบาดแผล เจ็บปวดหลายครั้ง แต่เราทนได้ แต่การเอาเราไปอยู่ในนั้นหนึ่งปีกว่า มันไม่ใช่การต่อสู้แฟร์ๆ  

อยากเขียนหนังสือหรือทำอะไรเกี่ยวกับประสบการณ์เรื่องนี้ไหม
ถ้าชีวิตลงตัวก็อาจนั่งเขียนรูป แต่งเพลงเพิ่ม ส่วนเรื่องในเมืองไทยถ้ามีคนมาขอติดต่อทำหนังก็คงจะทำ เพราะอยากให้ชาวโลกได้รู้ว่ายังมีความป่าเถื่อนในสังคม ผมคิดว่ามันป่าเถื่อนมากนะที่ทำกัน มาตรานี้มันหมดยุคสมัยไปแล้ว เอามาใช้นี่เหมือนอยู่ในยุคศตวรรษที่18 มันไม่น่ามี ไม่น่าเกิดขึ้น เป็นความน่าอับอายของระบบความยุติธรรมของประเทศไทย เอาอากงมาขังจนตายก็พยายามปฏิเสธ ไม่มีใครรับผิดชอบ หรือป๋าสุรชัย (ด่านวัฒนานุสรณ์) อายุ 70 แล้วเป็นการเอาคนแก่ที่ป่วยหลายโรคไปขังกรงไว้เพราะเขามีความคิดเห็นที่แตกต่าง เขาไม่ใช่ฆาตกร นี่แหละที่เรามองว่าเป็นความป่าเถื่อน มันแสดงว่าประเทศนี้ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ได้ ถามว่าจะมองเห็นความหวังไหม ยาก รูปธรรมสำคัญคือการปล่อยนักโทษทางความคิดออกมา



Phongsakorn Thavornan คาดหวังอะไรกับประเทศสารขัณท์ . . .

..................................................................................................................................

เพลง บันได
คำร้อง-ทำนอง เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์
ร้องนำ วัชระ ปานเอี่ยม
http://www.youtube.com/watch?v=ykqPwxWq91Y
...............................................................................................................................

..................................................................................................................



(May 24) ซูเปอร์แมนอาเบะ... นี่ของจริงหรือภาพลวงตา? นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบกับ นายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ เมื่อวาน... คงได้กระซิบถามว่าเขากระตุ้นเศรษฐกิจ กระเตื้องในไตรมาสแรก (ขณะที่ตัวเลขสภาพัฒน์บอกว่าของไทยในช่วงเดียวกันหดตัว) จนเป็นที่กล่าวขวัญกันในหมู่นักวิเคราะห์กันไปทั่วได้อย่างไร

อาเบะ เป็นนายกฯ ได้เพียง 6 เดือน อะไรๆ ทางด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ดูดีไปหมด

คะแนนนิยมของเขาพุ่งไปที่ 70% (ตอนที่เขาเป็นนายกฯ รอบแรกเมื่อหกปีก่อน คะแนนนิยมของเขาร่วงต่ำถึง 30%) ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น 55% การใช้จ่ายของผู้บริโภคกลับมาคึกคัก ดันให้ไตรมาสแรกมีอัตราโตถึง 3.5%

ขนาดนิตยสารรายเดือนชื่อดัง Foreign Affairs ที่ไปสัมภาษณ์จั่วหัวว่า “Japan is Back” และนิตยสารรายสัปดาห์อังกฤษ The Economist วาดภาพอาเบะเป็นซูเปอร์แมนขึ้นปกอย่างคึกคักกันทีเดียว

เป้าหมายหลักของ อาเบะ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้หลุดออกจากวังวนของความถดถอย ที่หลอกหลอนประเทศนั้นมาเกือบ 20 ปี ด้วยนโยบายผลักดันให้มีการใช้จ่ายและผลักดันให้ระบบราชการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

สามเสาหลักของนโยบาย อาเบะ ที่เริ่มมีคนเรียกว่า “Abenomics” มีสามประการ คือ
1. เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 10 ล้านล้านเยน
2. ตั้งเป้าเงินเฟ้อ
3. ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าสาเหตุสำคัญที่ อาเบะ ต้องตื่นจากภาวะซึมเซามาช้านาน ก็เพราะว่าเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ที่ชื่อจีนนั่นแหละ

สองปีก่อน จีน แซงหน้า ญี่ปุ่น ในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก และ เมื่อ จีน มีความมั่นใจในตัวเองสูงขึ้น ก็เริ่มเผชิญหน้ากับเพื่อนบ้านเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ

กรณีพิพาทกับ จีน เรื่อง หมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู นั่นเอง ที่เป็นแรงกระชากให้ ญี่ปุ่น ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าอ่อนปวกเปียกทั้งทางด้านความมั่นคง สังคม และ เศรษฐกิจ

นายกฯ อาเบะ จับเอาประเด็นจีน มากำหนดทิศทางของเขาในฐานะผู้นำประเทศ โดยที่เขาวางเป็นนโยบายชัดเจน ว่า หาก ญี่ปุ่น จะไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของจีน ก็จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้น เพราะหากว่าปากท้องของคนญี่ปุ่น ยังไม่อิ่มเต็มที่ ก็ย่อมไม่มีพลังที่จะตั้งรับเสียงคำรามจากเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่แน่นอน

นโยบายกระตุ้นทางการคลังและการผ่อนนโยบายการเงินของเขา ทำให้เงินเยนอ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นการส่งออก และผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่ ก็จะฉีดเงินเข้าไปในระบบมากขึ้น (แต่ก็ต้องระวังเพราะว่าหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นขณะนี้เท่ากับ 240% ของ GDP แล้ว)

นักข่าวถาม นายกฯ อาเบะ ว่า ทำไมตอนเขาเป็นนายกฯ ครั้งก่อน จึงล้มเหลว แต่พอกลับมาคราวนี้กลายเป็นคนละคนกับครั้งนั้น

อาเบะ ตอบอย่างน่าสนใจว่า

“ตอนที่ผมเป็นนายกฯ ครั้งก่อน ผมไม่รู้จักจัดลำดับความสำคัญของนโยบายของผม ผมใจร้อน จะทำทุกอย่างพร้อมกันหมด และมันก็จบลงด้วยรัฐบาลที่ล้มเหลว แต่หลังจากผมลาออกเมื่อหกปีก่อน ผมเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อไปฟังผู้คนทั่วไป และสิ่งที่ผมได้ยิน ก็คือ คนญี่ปุ่นตกงานกันมาก เพราะว่าสภาวะเศรษฐกิจหดตัว และการที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นมาก บางคนถึงกับสิ้นหวังกับอนาคต ดังนั้น การเป็นนายกฯ สมัยสองของผมครั้งนี้ จึงทำให้ผมต้องจัดลำดับความสำคัญของนโยบายใหม่ และอันดับหนึ่ง คือ ระงับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และทำให้เศรษฐกิจกลับลำให้ได้ เอาเป็นว่าครั้งนี้ผมได้จัดลำดับความสำคัญที่ถูกต้องเพื่อสะท้อนความห่วงใยของประชาชน และผลที่ตามมาก็เห็นค่อนข้างชัด นั่นคือคะแนนนิยมต่อตัวผม ที่สูงขึ้น...”

อาเบะ เปิดเผยด้วยว่า เขาได้ใช้ Facebook ในการสื่อสารทางตรงกับประชาชน เขาบอกว่า "ที่ผ่านมาสื่อกระแสหลัก มักจะอ้างคำพูดของนักการเมืองเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่เมื่อใช้ social media สื่อสารกับประชาชน เขาก็สามารถจะส่งสารโดยตรงถึงชาวบ้าน ทำให้เกิดความเข้าใจกันได้ดีขึ้นกว่าเดิม...”

อาเบะ ยังต้องพิสูจน์ว่าผลงานโดดเด่นหกเดือนแรกจะยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน และนโยบายแข็งกร้าวของเขาต่อจีน และการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างกองทัพอาชีพนั้น จะกระทบต่อแนวทางการสร้างเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด

“ซูเปอร์แมนอาเบะ” ยังต้องทำให้คนญี่ปุ่นเห็นว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น...ไม่ใช่เพียงแค่ภาพลวงตาชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย กาแฟดำ
...................................................................................................................



..................................................................................................................


ใครจะโดนหางเลข

พลันที่สภาพัฒน์แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรก หากดูตัวเลขแบบดาด ๆ เผิน ๆ ทำให้หลายคนต้องอึ้ง แต่คนที่นั่งไม่ติดน่าจะเป็นรัฐบาล เพราะอนาคตเก้าอี้คณะรัฐมนตรี จะสั่นไหวหรือไม่อยู่ที่การเติบโตของเศรษฐกิจ

แต่ตัวเลขที่ปรากฏในไตรมาสแรกเศรษฐกิจขยายตัว หรือ "จีดีพี" โตแค่ 5.3% เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว หดลง 2.2% หรือติดลบ 2%

ยิ่งเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้วอัตราการขยายตัวแค่ 0.4% ใครๆ ก็รู้ว่าไตรมาสแรกปี 2555 เศรษฐกิจไทยต่ำเรี่ยดินเนื่องจากต้องเจอกับพิษน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 นั่นเท่ากับไตรมาสแรกของปีนี้โต 5.3% แทบจะไม่โต ขึ้นเลย

ปัจจัยฉุดเรียกว่ามีทุกตัว ตั้งแต่การส่งออกที่ขยายตัวได้แค่ 4.5% ขณะที่การบริโภคและการลงทุนก็ขยายตัวต่ำจนผิดปกติ

แค่โค้งแรกก็ทำท่าว่าเศรษฐกิจไทยจะหลุดโค้งเอาดื้อ ๆ หากว่าโค้งที่สองยังไปไม่กลับหลับไม่ตื่นฟื้นไม่มี แล้วก็ต้องบอกว่า อาการหนัก

ยิ่งท่วงทำนอง "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เลขาฯ สภาพัฒน์ ที่ออกมาเป็นลูกคู่กระทรวงคลังมาตลอด ออกมายิงหมัดฮุกใส่ปลายคางแบงก์ชาติว่า ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพราะ "เงินบาทแข็งค่า" นโยบายการเงินไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลค่าเงินบาท

แปลไทยเป็นไทยก็อนุมานได้ว่า เป็นเพราะแบงก์ชาติดื้อตาใสไม่ยอม "ลดดอกเบี้ย" แถมยังส่งซิกว่าเที่ยวนี้ทำทั้งทีต้องไม่หนี 1 บาท ตัวเลขนี้คุ้นๆ ว่าเป็นตัวเลขเดียวกับ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รัฐมนตรีคลัง เคยส่งสัญญาณให้คณะกรรมการนโยบายการเงินลดดอกเบี้ยมาแล้ว

ในฟากแบงก์ชาติก็ตั้งการ์ดสูงตามฟอร์ม "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" สั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบตัวเลขการบริโภคที่ต่ำจนผิดสังเกต เพราะรัฐบาลอัดทั้งนโยบายค่าแรง จำนำข้าว เงินเดือนข้าราชการใหม่ แบงก์พาณิชย์ก็แข่งขันการปล่อยกู้ เรียกว่าไม่ยอมลดราวาศอก

ตอนนี้คู่ขัดแย้งเดิมระหว่าง "แบงก์ชาติ" กับ "คลัง" กลายเป็นว่าสภาพัฒน์เป็นแนวร่วมเขย่าแบงก์ชาติอีกแรง ยิ่งอลเวงไปใหญ่

หลายคนวิเคราะห์ว่า หมากเกมนี้สภาพัฒน์เป็นหน่วยกล้าตายเดินหน้ากดดันให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยเต็ม ๆ เพราะรัฐบาล "หมดกระสุน" จะกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่จบนโยบายรถคันแรก

ต้องจับตาดูว่าหลังจากนี้ หากใครดื้อแพ่งมีสิทธิ์โดนหางเล

คอลัมน์ เมืองไทย25น.
ทวี มีเงิน/ข่าวสดออนไลน์
.....................................................................................................................


ก่อนจะอ่านบรรทัดถัดไป
พวกคุณช่วยอ่านที่กูเขียนให้จบด้วย

ประกาศชัดๆ นะครับ เพจนี้ หา "ใครเผา CTW"
ส่วนคดีที่ไม่รับค้นหา และไม่ต้องมาแย้งให้เหนื่อยเปล่า คือ

"คดีเผาศาลากลาง" และ "คดีเพชรซาอุ"

ใครเผาศาลากลาง ก็ให้ดำเนินคดีกันไปตามกฎหมาย เขาเป็นแดงหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ แต่ข้อมูลแว่วว่าที่อุดรเผากันจริงครับ ถ้าเผากันจริงก็ต้องยืดอกรับ ดำเนินคดีกันไปตามกฎหมายครับ

ท่านใดจะรื้อฟื้นวาทกรรมมาย้ำเตือน ก็ขอบคุณมากๆ แต่ไม่ค่อยมีประโยชน์ครับ เพราะอันนั้นมีการดำเนินคดีกันตามกฎหมายไปแล้ว ไม่ต้องกลัวครับกูว่าเพื่อนสีแดงเขารู้ดี

ที่เขาสนใจการเผา CTW เพราะคนที่โดนจับรอบแรก รัฐขณะนั้นบอกว่าเป็นพวกแดง เอาชื่อพวกเขามาด่า มาเปิดเผยกลางสภา โดยคนระดับอดีตรองนายกรัฐมนตรี ข่าวก็ลงกันมั่วซั่วทั้งที่ศาลยังไม่พิพากษาตัดสิน สื่อมวลชนบ้านเราก็รีบพิพากษาเขาไปเรียบร้อยแล้วปานว่าได้พระบรมราชโองการให้พิพากษาผู้คนผ่านหนังสือพิมพ์ราคาถูกๆ ของตนได้อย่างไร้จรรยาบรรณวิชาชีพ ทีนี้ พอสื่อสารออกไปสู่สังคม สิ่งนี้ก็ทำให้เกิดแพะขึ้น

(อย่ามาดราม่าประเด็นศาล เพราะศาลนี้หมายถึง ศาลแพ่ง และศาลอาญา ไม่ได้หมายถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องอำนาจ และการเมือง)

มาต่อเรื่องเผา CTW พอมีคนออกมาให้ข่าว สังคมอันแสนสงบสุข ที่ผู้คนในสังคมนี้ชื่นชอบการเหมารวม ชอบข่าวลือ ก็ช่วยกระพือโหมกระแสข่าวลือ ที่คิดว่าน่าเชื่อถือ "ในตอนนั้น" อย่างกว้างขวาง โดยมิได้สนใจข้อมูลหักล้างอื่นๆ ทั้งจากของไทยและเทศ

จนทำให้คนเสื้อแดงตกเป็นเหยื่อของวลี-วาทกรรมจากกลุ่มคนอุบาทว์ ที่ไปเรียกคนเสื้อแดงว่า "พวกเผาบ้านเผาเมือง" โดยเฉพาะในประเทศกรุงเทพ ที่มี สส.บางคน เอาภาพไปตัดต่อเล่นเป็นการเมือง ในช่วงเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ที่ผ่านมา หากจำกันได้ !

เล่าต่อให้ชัดว่า การเผาเมืองนั้นมีการเผาจริง มีการเผากันหลายจุด ถ้าดูคลิปที่เพจเราโพสท์ไว้ คุณจะเห็นอีกมุม อีกด้านที่คุณไม่เคยเห็น ผมขอเรียกมันว่า "ปฏิบัติการมิคสัญญีทำลายเกียรติภูมิชายชาตินักรบ" เพราะมีทหารใช้อาวุธกับประชาชนถ้าไม่มีใครถืออาวุธออกมาก่อน ต่อให้มีผู้เสียชีวิต มันก็ไม่มีทางพุ่งไปถึงหลักร้อย ได้แบบนี้

เมื่อสองฝ่ายถืออาวุธมาหากัน ใครผิด ก็ยากจะระบุ จริงไหม ?

มาต่อกันเรื่องการเผาจริงในหลายสิบจุด ที่เขาเผานั้นเพื่อบดบังทัศนวิสัยของสไนเปอร์ เขาไม่อยากโดนยิงกลางหัว ที่เขายังอยู่ ยังชุมนุม เพราะเขาไม่ยอมให้แก่อำนาจรัฐ เขาต่อต้าน เขา resist และอาจมีคนดราม่าต่อว่า แล้วคนพวกนี้จะออกมาทำไม กูจะบอกว่า เขาออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ (แม้จะต้องปิดถนน) ตามรัฐธรรมนูญ

อาจมีดราม่าต่ออีกว่า มันค้าขายไม่ได้นะ มันเสียประโยชน์นะ ใช่นะ แล้วรัฐบาลในตอนนั้น ได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับพ่อค้าแม่ค้าบริเวณนั้น ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็แปลว่า ได้รับเงินเยียวยาแล้วนิ แม้จะขาดทุนบ้าง แต่คุณยังมีชีวิตกลับมาค้าขายต่อไป

แต่...นักข่าวต่างประเทศ อาสาสมัคร และกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งหลายคนที่เขาสูญเสีย เพื่อน ญาติมิตร ลูกหลาน คนในครอบครัวไป เขาก็ได้รับเงินแล้ว เพื่อเยียวยา ครอบครัว ฐาติมิตรของเขากลับมามีชีวิตได้ไหม ?

แถมพวกเขายังไม่ได้รับความยุติธรรม จากรัฐบาล คุณจะให้เขารับเงิน แล้วปล่อยให้ความสูญเสียนั้นหายเงียบไปเฉยๆ เหรอ

ผู้สูญเสียเขาก็ต้องการความยุติธรรมเช่นกัน เขาต้องการให้คนกระทำผิดได้รับโทษ จะติดคุกสั้นหรือยาวก็ไม่รู้ แต่เขาต้องการให้คนที่กระทำผิดเหล่านั้นได้ใช้กรรมของตนเอง จากระบบกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ลอยไปลอยมา เป็นแคสเปอร์ กับพวกสไนเปอร์อย่างทุกวันนี้

กราบประทานโทษนะ
ถึงกูจะไม่สนับสนุนกับการชุมนุม ดังที่เคยได้กล่าวไว้แต่ตอนตั้งเพจ แต่กูไม่เห็นด้วยกับการสลายการชุมนุม โดยเอาชีวิตของกำลังพล และประชาชนเป็นเดิมพัน ถ้าเป็นลูกน้องหน่วยกู กูจะให้มันลาออกทั้งหมด ไปทำธุรกิจ รปภ.กับกู

ทีนี้ CTW ทั้ง 9 คดี ศาลชั้นต้น ได้พิพากษาให้จำเลยทั้ง 9 คนบริสุทธิ์ ถึงแม้ว่าจะมีอุทธรณ์และฎีกา ก็ต้องรออีกเป็นสิบปี ดังนั้น ระหว่างนี้ ทั้ง 9 คน จึงเป็นเพียงกลุ่มผู้ต้องหา ที่ต้องแก้ข้อกล่าวหากันต่อไป ตามกระบวนการยุติธรรม มันไม่ใช่เรื่องที่จะเราจะมาผลิตวาทกรรม กดทับคนอื่น ซ้ำๆ

เอาละ มาช่วยแสดงศักยภาพหาคนเผา CTW ด้วยกันนี่
วางอคติลงสักนิด แล้วหาข้อมูลเพิ่มจากเพื่อนเสื้อแดงของท่านเองก็แล้วกัน หลายคนอยู่ในเหตุการณ์ รู้ดีเสียยิ่งกว่ากูเสียอีก เขาสามารถเล่าเหตุการณ์ได้ดีกว่ากู เสียงกระสุนแต่ละนัด ร่างที่ล้มแต่ละร่าง กูว่าเขาเห็นประจักษ์แก่ตา และไม่ได้มีหลักฐาน (ครจะไปมีเวลาเก็บหลักฐาน เอาชีวิตก่อนเถอะ)

คุณไม่คิดเหรอว่า ทำไมเสื้อแดงถึงเป็นเดือดเป็นแค้นกันนัก
ก็เพราะพวกเรา (สลิ่มแบบผม)นี่แหละ
ที่เล่าเรื่องของพวกเขาอย่างบิดเบือน ยอมรับกันเสียทีเถิด
พวกเราฟังเรื่องของเขาไม่จบ
แต่พวกเราก็รีบ รวบรัดตัดสิน / รวบรัดตัดตอน กันเองไปแล้ว

มีเรื่องเล่าเล็กๆ
เมื่อเช้าไปวัดเห็นตัวหนึ่งหมาเห่ากองใบไม้แห้ง
ดูมันอยู่สักพัก เห่าอยู่นั่นแหละ ก็ไม่เห็นว่ามันจะเกิดประโยชน์อะไร
หันมาอีกที เห็นคนเขารำคาญ ก็เลยไล่มันไปจากบริเวณนั้น
คิดไปคิดมา ชีวิตหมาน้อย นี่ก็น่าสงสารนะครับ

ส่วนเพจกู ถ้าพวกคุณติดตามกันมา คงจะเข้าใจว่า เรามาช่วยกันสืบ ค่อยๆ มีข้อมูลเพิ่มทีละนิด บริบทแวดล้อม มันสำคัญต่อการสืบค้นความจริง ไม่ใช่เหรอ ? ช่วยกันส่งมาเยอะๆนะ
นี่ไง กูต้องได้ 10 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ
.........................................................................................................................



....................................................................................................................................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น